Social :



@พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง สุพรรณบุรี

25 ต.ค. 60 13:10
@พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง สุพรรณบุรี

@พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง สุพรรณบุรี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

     ในปัจจุบันอยู่ที่อำเภออู่ทอง เป็นเมืองเก่า ที่มีชื่อปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า พระเจ้าอู่ทองทรงอพยพผู้คนหนีโรคห่า จากเมืองอู่ทองเมื่อปี พ.ศ.1890  ไปสร้างเมืองหลวงใหม่คือ กรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้มีการขุดค้นหาหลักฐานที่เมืองอู่ทอง แล้วลงความเห็นว่า  เมืองนี้เป็นเมืองเก่าก่อนกรุงศรีอยุธยาและร้างไปนานนับร้อยปี ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสร้างกรุงศรีอยุธยา จึงเชื่อกันว่าพระเจ้าอู่ทองน่าจะไม่ได้หนีโรคห่าดังที่กล่าวไว้ ... ปริศนาของเมืองโบราณอู่ทอง ที่ยังต้องค้นหาคำตอบ อันเป็นที่มาของ โครงการ "อู่ทอง อู่อารยธรรมโบราณ" ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ 

ประติมากรรมรูปคชลักษมี

ประติมากรรมรูปคชลักษมี
ศิลปะทวารดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔
ดินเผา สูง ๘ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

     ประติมากรรมดินเผารูปคชลักษมี ด้านล่างทำเป็นรูปกลีบบัว ตรงกลางทำเป็นพระลักษมีประทับนั่ง พระหัตถ์ทั้งสองถือก้านดอกบัวในระดับพระอุระ ด้านล่างทำเป็นรูปช้างขนาบอยู่แต่ส่วนหัวหักหายไป สันนิษฐานว่าทำเป็น รูปช้างชูงวงถือหม้อน้ำ (บูรณฆฏะ) เพื่อสรงน้ำแก่พระลักษมีซึ่งเป็นชายาของพระวิษณุในคติทางศาสนาพราหมณ์ฮินดูหมายถึงคชลักษมี หรือ อภิเษกพระศรี จึงเป็นการแสดงออกถึงความมีโชคลาภ และความอุดมสมบูรณ์
ตลอดจนเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตทั้งหลาย ส่วนทางศาสนาพุทธสัญลักษณ์เช่นนี้อาจสื่อความหมายถึงปางประสูติ โดยเทวีตรงกลางหมายถึงพระนางสิริมหามายา คาดว่าเป็นวัตถุมงคลที่พ่อค้านำติดตัวเพื่อให้เกิดโชคลาภ
หรือความเจริญรุ่งเรืองทางการค้า

ที่มา: https://www.facebook.com/prfinearts/photos

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง


ประวัติความเป็นมา

   ประวัติการก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง พ.ศ. 2446 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี และเสด็จสำรวจเมืองโบราณอู่ทอง ทรงนิพนธ์เล่าเรื่องเมืองอู่ทองในรายงานเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีและทรง

นิพนธ์หนังสือเรื่องนิทานโบราณคดี
   พ.ศ.2476 ราชบัณฑิตยสภาได้เริ่มทำการสำรวจทำแผนผังเมืองโบราณอู่ทองโดยสังเขป ซึ่งปรากฏว่าเป็นเมืองโบราณสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีแห่งหนึ่ง
   พ.ศ. 2502 กรมศิลปากรได้จัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ขึ้นเป็นอาคารชั่วคราวเพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองโบราณอู่ทอง
   พ.ศ. 2504 กรมศิลปากรทำการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานที่มีกระจายอยู่ทั่วไปในเมืองโบราณ
อู่ทองเพิ่มเติม พบโบราณวัตถุสมัยทวารดีจำนวนมาก
   พ.ศ. 2507-2509 ศาตราจารย์ช็อง บวสเซลีเย่ร์(M.JeanBoisselier) ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ชาวฝรั่งเศส และหัวหน้าหน่วยศิลปากรในขณะนั้น ได้ทำการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานในเมืองอู่ทอง และศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีกับเมืองโบราณอู่ทอง
   พ.ศ.2508-2509 กรมศิลปากรได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทองขึ้นเป็นการถาวร เพื่อเก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2509

หน้าที่รับผิดชอบ
-ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย โบราณวัตถุในความดูแล สำรวจ รวบรวม โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากการขุดค้นทางโบราณคดีและในพื้นที่รับผิดชอบ
-ปกป้องคุ้มครอง อนุรักษ์ดูแลสงวนรักษา โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในความครอบครองให้ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการอนุรักษ์
-ควบคุมและจัดทำทะเบียน วางระบบการจัดเก็บข้อมูลโบราณวัตถุในการครอบครอง เพื่อรักษาความปลอดภัยและพัฒนาระบบฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ เพื่อการสืบค้นและการบริการที่รวดเร็วทันสมัย
-เผยแพร่องค์ความรู้และงานวิชาการซึ่งค้นพบและได้จากการศึกษาใหม่ๆ
-ส่งเสริม เผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าโบราณศิลปวัตถุในรูปแบบนิทรรศการถาวรงานสัมมนาวิชาการ และผลิตสื่อเอกสารทางวิชาการเพื่อการเผยแพร่ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ตามหน้าที่พิพิธภัณฑ์ฯซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต

ฝ่ายวิชาการ
1. การศึกษา วิเคราะห์ วิจัย โบราณวัตถุในความดูแล สำรวจ รวบรวม โบราณวัตถุจากการขุดค้นทางโบราณคดีและในพื้นที่ความรับผิดชอบ
2. ปกป้องคุ้มครอง อนุรักษ์ดูแล สงวนรักษา โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในความครอบครองให่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการอนุรักษ์
3. ควบคุมและจัดทำทะเบียน วางระบบการจัดเก็บข้อมูลโบราณวัตถุในความครอบครอง เพื่อรักษาความปลอดภัยและพัฒนาระบบฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ เพื่อการสืบค้นและบริการที่รวดเร็วทันสมัย
4. เผยแพร่องค์ความรู้และงานวิชาการซึ่งค้นพบและได้จาการศึกษาใหม่ๆ
5. ส่งเสริม เผยแพร่ข้อมูลทางวิชารที่ได้จาการศึกษา ค้นคว้าโบราณศิลปวัตถุในรูปแบบนิทรรศการถาวรงานสัมมาวิชาการ และผลิตสื่อเอกสารทางวิชาการเพื่อการเผยแพร่ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ตามหน้าพิพิธภัณฑ์ฯซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต
6. สำรวจขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีคุณค่าทางมรดกศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ

งานบริการและประชาสัมพันธ์
1. ให้บริการเข้าชมแก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจ
2. กำหนดแผนงานด้านการตลาด งานบริการ การศึกษา การประชาสัมพันธ์ให้ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการที่ดี
3. บริการเผยแพร่ให้ความรู้บรรยายนำชมในและนอกสถานที่ให้บริการต้อนรับผู้เข้าชม
4. ให้บริการการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางทางด้านวิชาการ ในรูปแบบต่างๆ เช่น เอกสารสื่อสิ่งพิมพ์
สื่อวีดิทัศน์ โสตทัศนูปกรณ์
5. จัดนิทรรศการพิเศษ ตามแผนงานโครงการ/กิจกรรมในโอกาสและวาระต่างๆทั้งในและนอกสถานที่
6. บริการให้ยืมนิทรรศการภาพถ่ายนิทรรศการเคลื่อนที่สัญจรสู่สถานศึกษา

ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ถนนมาลัยแมน ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160
โทรศัพท์/โทรสาร 035-551021

เส้นทางการเดินทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ตั้งอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภออู่ทอง บนถนนมาลัยแมน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ห่างจากจังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 30 กิโลเมตร
แผนที่เส้นทาง สุพรรณ - อ.อู่ทอง

วัน-เวลาเปิด-ปิด
วันเวลาทำการ : วันพุธ-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
เวลา 9.00 น.-16.00 น.
ปิด : วันจันทร์-วันอังคาร

ค่าเข้าชม
ค่าธรรมเนียมเข้าชมชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท
หมายเหตุ ยกเว้นค่าธรรมเนียม นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุ สามเณร และนักบวชใน ศาสนา ต่างๆและผู้สูงอายุ เกิน 60 ปี


นิทรรศการถาวร
อาคารจัดแสดงที่ 1
จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองโบราณอู่ทองและวัฒนธรรมทวารวดี แสดงถึงพัฒนาการของเมืองโบราณอู่ทอง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กระทั่งพัฒนาเข้าสู่สังคมประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี
ประกอบด้วยห้องจัดแสดง 2 ห้อง
   ห้องจัดแสดงที่ 1 บรรพชนคนอู่ทอง (สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และการรับวัฒนธรรมจากภายนอก)ห้องบรรพชนคนอู่ทอง จัดแสดงถึงพัฒนาการของเมืองโบราณอู่ทอง เมืองโบราณแห่งนี้ พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์แบบสังคมเกษตรกรรมยุคหินใหม่ต่อเนื่องถึงยุคโลหะ เมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ต่อมาประมาณ 2,000 ปี พบหลักฐานโบราณที่แสดงว่า เมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการติดต่อขายสำคัญของชุมชนโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศสำคัญของโลกในเวลานั้น เช่น ลูกปัดชนิดต่างๆ ทำด้วยลูกปัดต่างๆทำด้วยหินมีค่าที่นำเข้าจากประเทศอินเดีย เหรียญกษาปณ์โรมัน ปูนปั้นรูปพ่อค้าชาวเปอร์เซีย ฯลฯ ราวพุทธศตวรรษที่ 8-10 หรือเมื่อประมาณ 1,600-1,800 ปีที่ผ่านมา พบหลักฐานที่แสดงถึงการนับถือพุทธศาสนาในเมืองโบราณอู่ทอง โดยเฉพาะพุทธศาสนาแบบหินยานหรือเถรวาท ทำให้เมืองอู่ทองเกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางวัฒนธรรมเข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสมัยประวัติศาสตร์ยุคแรกสุดบนผืนแผ่นดินไทย
โบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องประดับทองคำ ลูกปัดทองคำสมัยทวารวดี ลูกปัดที่ทำจากหินแก้ว แผ่นดินเผาภาพพระภิกษุอุ้มบาตร อิทธิพลศิลปะอมราวดี ซึ่งถือเป็นโบราณวัตถุที่ได้รับอิทธิพลอินเดียที่มีอายุเก่าที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย แผ่นดินเผ่ารูปเทวดา ตราประทับดินเผา จารึกดินเผา จารึกแผ่นทองแดงเหรียญกษาปณ์โรมัน เหรียญเงินมีจารึก และพระพุทธรูปสำริด
   ห้องจัดแสดง 2 อู่ทองศรีทวารวดี (วัฒนธรรมทวารวดีที่เมืองโบราณอู่ทอง) ห้องอู่ทองศรีทวารวดี จัดแสดงเรื่องราวและความสำคัญของเมืองโบราณอู่ทองในฐานะเมืองประวัติศาสตร์ยุคแรกของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการค้าและศูนย์กลางพระพุทธศาสนาก่อนแพร่กระจายความเจริญไปสู่ชุมชนโบราณร่วมสมัยอื่นๆ

เมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี มีผังเมืองเป็นรูปวงรี ตัวเมืองมีคูน้ำคันดินล้อมรอบภายในตัวเมืองและบริเวณโดยรอบมีซากโบราณกระจายอยู่ไม่น้อยกว่า 20 แห่ง ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของโบราณสถานคอกช้างดิน กลุ่มศาสนาสถานและสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เมืองโบราณอู่ทองมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 หรือประมาณ 1,000-1,400 ปีที่ผ่านมา เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุและวิทยาการต่างๆในอดีต อันมีผลจากการผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับการรับวัฒนธรรมจากประเทศอินเดีย ก่อให้เกิดรูปแบบทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ทวารวดี” มีลักษณะที่สำคัญคือ การวางผังเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ การนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทการสร้างศาสนสถานด้วยอิฐขนาดใหญ่ และการมีรูปแบบทางศิลปกรรมเฉพาะของตนเอง

   โบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดง ได้แก่ ธรรมจักรศิลา พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปดินเผา ประติมากรรมดินเผา ลูกปัด เครื่องประดับ เครื่องมือเครื่องใช้ ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ลวดลายปูนปั้น ฯลฯ โดยเฉพาะธรรมจักรศิลาพร้อมแท่นและเสาตั้งซึ่งถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมที่พบเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย

MulticollaC


อาคารจัดแสดงที่ 2
จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับดินแดนสุวรรณภูมิ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณอู่ทอง เส้นทางการค้าทางทะเล และเมืองโบราณอู่ทองในฐานะศูนย์กลางของศาสนาพุทธ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
   ห้องจัดแสดงชั้นบน ส่วนที่ 1 “พัฒนาการทางประวัติศาสตร์บนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ”จัดแสดงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของดินแดนสุวรรณภูมิ แหล่งการค้าสำคัญของโลกยุคโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าคือดินแดนที่เป็นประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กระทั่งเข้าสู่สังคมเมือง และการค้าระหว่างชุมชนโบราณต่างๆทั้งในและภายนอกด้วยโบราณวัตถุและสื่อจัดแสดงประเภทต่างๆที่ทันสมัย
ห้องจัดแสดงชั้นบนส่วนที่ 2 “สุวรรณภูมิการค้าของโลกยุคโบราณ”จำลองเหตุการณ์การค้าทางทะเลจากคาบสมุทรอินเดียสู่ดินแดนสุวรรณภูมิเมื่อราว 3,000 ปีที่ผ่านมาโดยใช้สื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ แสดงถึงการเดินเรือของพ่อค้าชาวต่างชาติ เส้นทางการค้าและเมืองท่าสำคัญในเวลานั้น ซึ่งเชื่อว่าส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเมืออู่ทองโบราณโดยตรง
   อาคารจัดแสดงหมายเลข 2 ห้องจัดแสดงชั้นล่าง“อู่ทองศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา”จัดแสดงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อประมาณ 1,600-1,800 ปีที่ผ่านมา “เมืองโบราณอู่ทอง อรุณรุ่งแห่งอารยธรรมไทย” เป็นเมืองสำคัญยุคแรกที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาพุทธจากอินเดีย ซึ่งได้กลายมาเป็นจุดกำเนิดวัฒนธรรมทวารวดีในเวลาต่อมา โดยหลักฐานว่าพระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานที่เมืองโบราณอู่ทองเป็นจุดแรกในดินแดนประเทศไทยจัดแสดงโดยใช้โบราณวัตถุสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แบบจำลองเจดีย์ธรรมจักร และการขุดค้นทางโบราณคดีที่มีเมืองโบราณอู่ทองด้วยเทคนิคการจัดแสดงอันทันสมัยพร้อมภาพยนตร์แอนนิเมชั่น



เรือนลาวโซ่ง
   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทองได้จำลองเรือนลาวโซ่งจัดแสดงไว้ภายใน เรือนลาวโซ่งถือเป็นรูปแบบบ้านอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง ชาติพันธุ์สำคัญชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในอำเภออู่ทอง
ไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง เป็นกลุ่มคนเชื้อสายไท มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศลาวและเวียดนาม ในสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กองทัพไทยได้ยกไปนครเวียงจันทร์และเมืองต่างๆในอาณาจักรล้านช้าง(ประเทศลาว)ได้กวาดตอนผู้คนครอบครัวชาวลาวต่างๆมาจำนวนมาก รวมทั้งชาวลาวโซ่งมายังอาณาจักรสยาม(ประเทศไทย) ชาวลาวโซ่งที่เข้ามาในครั้งนั้นได้ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานที่อยู่ไปทำมาหากินในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งที่จังหวัดสุพรรณบุรีด้วย ในปัจจุบันชุมชนชาวไทยทรงดำในจังหวัดสุพรรณบุรีอาศัยอยู่ในเขตอำเภออู่ทอง อำเภอเมือง อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอบางปลาม้า
   ชาวไทยทรงดำมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองพูดกันในกลุ่มเชื้อสายเดียวกัน มีเอกลักษณ์ทางการแต่งกายที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ เครื่องแต่งกายสีดำที่ย้อมครามจนเข้มเป็นสีน้ำเงินดำ
ชาวไทยทรงดำมีความเชื่อ การนับถือผี สิ่งที่เหนือธรรมชาติ และวิญญาณบรรพบุรุษ มีการประกอบพิธีที่เป็นแบบแผนมาจนปัจจุบัน เช่น พิธีเสนเฮือน หรือการไหว้ผีเรือน พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีแต่งงาน และพิธีศพ ที่มีความคล้ายคลึงกับพิธีของคนจีนในบางประการ





    เครื่องประดับจี้ทองคำ ผลิตขึ้นโดยมีต้นแบบจากโบราณวัตถุสมัยทวารวดีที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือประมาณ 1,200-1,400 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าทั้งด่านประวัติศาสตร์ และศิลปะ ผลิตขึ้นโดยใช้โลหะมงคล “นวโลหะ” เคลือบทองไมครอนด้วยมาตรฐานงานจิวเวอรี่ จำนวนจำกัดเพียง 300 ชิ้น ราคาชิ้นละ 1,500 บาท ทุกชิ้นมีหมายเลขกำกับ ผลิตภายใต้การควบคุมคุณภาพโดยกรมศิลปากร
   ต่างหูทองคำตุ้มหู ผลิตขึ้นตามรูปแบบของตุ้มหูทองคำ สมัยทวารวดีมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือ ประมาณ 1,200-1,400 ปีที่ผ่านมาพบภายในเมืองโบราณอู่ทอง ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่มีคุณค่าอย่างยิ่งทางด้านประวัติศาสตร์และศิลปกรรม ผลิตขึ้นใหม่โดยใช้โลหะสำริดซึ่งเป็นโลหะผสมเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ค้นพบ เคลือบทองไมรครอนอย่างดีเป็นงานสืบสานภูมิปัญญาของบรรพชนไทยผลิตจำนวนจำกัดเพียง 500 คู่ ราคาชิ้นละ 1,000 บาท ภายใต้การควบคุมของกรมศิลปากร

 คลังวิชาการคลังจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
   มีหน้าที่หลักของพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดเก็บโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ไม่น้อยกว่า 4,000 รายการ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และเกิดความมั่นคงปลอดภัยในการเก็บรักษาโบราณวัตถุที่มีอยู่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ทางพิพิธภัณฑ์ จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการปรับปรุงคลังจัดเก็บโบราณวัตถุเป็นการชั่วคราว เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก และเกิดความปลอดภัยต่อโบราณวัตถุ ที่เก็บรักษาของพิพิธภัณฑ์ต่อไปนี้
   - เพื่อให้โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุได้รับการอนุรักษ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
   - เพื่อมีสถานที่จัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
   - เพื่อให้ภัณฑารักษ์และเจ้าหน้าที่ทะเบียนมีห้องปฏิบัติการด้านทะเบียนโบราณวัตถุ
   - เพื่อให้เกิดความมั่นคงและปลอดภัยต่อโบราณวัตถุ


โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยม

โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

   แผ่นดินเผาภาพพระภิกษุอุ้มบาตร ศิลปะอินเดียแบบอมราวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 (หรือราว 1,600-1,700 ปีมาแล้ว) ลักษณะแผ่นดินเผาภาพภิกษุ 3 องค์ ยืนอุ้มบาตรครองจีวรคลุม จีวรมีลักษณะเป็นริ้ว แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอมราวดีของอินเดีย สันนิษฐานว่าทำขึ้นเพื่อประดับศาสนสถาน

**หมายเหตุ ถือเป็นโบราณวัตถุอิธิพลศิลปะอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย

   ชิ้นส่วนปูนปั้นภาพพระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะอินเดียแบบอมราวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 หรือประมาณ 1,600-1,700 ปีมาแล้ว ลักษณะปูนปั้นภาพพระพุทธรูปนาคปรก ชำรุด เหลือเฉพาะส่วนฐาน เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับขัดสมาธิไขว้พระบาทหลวมๆแสดงถึงอิทธิพลศิลปะอมราวดีของอินเดีย พระหัตถ์ทั้งสองวางประสานกันที่พระเพลา ด้านล่างเป็นขนดนาค 3 ชั้นซ้อนกัน

   แผ่นดินเผารูปเทวดาเหาะ ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 หรือประมาณราว 1,300-1,400 ปีมาแล้ว ลักษณะแผ่นดินเผาทำเป็นภาพนูนต่ำรูปบุคคลเอียงตัวทำท่าเหาะ ยกแขนและขาข้างขวาไปด้านหลัง ขาซ้ายยื่นไปทางด้านหน้า สวมเครื่องประดับศีรษะแสดงถึงความเป็นบุคคลชั้นสูง ซึ่งน่าจะหมายถึงเทวดา มีสายคาดเอวพันรอบตัวโดยขมวดเป็นปม มีแถบผ้าพลิ้วไปทางด้านหลังคล้ายกับศิลปะอินเดียแบบคุปตะ

   ปูนปั้นพระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือราว1,200-1,400 ปีมาแล้ว ลักษณะนิยมเรียกพระพุทธรูปยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นในท่าแสดงธรรม โดยพระอังคุต (นิ้วหัวแม่มือ)และพระดัชนี(นิ้วชี้)จรดกันเป็นวงกลมว่า “ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์” ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ ภายหลังจากทรงเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในช่วงเข้าพรรษา(ทั้งนี้คติในการสร้างพระพุทธรูปลักษณะเช่นนี้เดิมคงหมายถึงการแสดงธรรมขอพุทธองค์) พระพุทธรูปองค์นี้ทำด้วยปูนปั้น มีลักษณะพระพักตร์แบบพื้นเมือง ครองจีวรห่มคลุม พระหัตถ์ทั้งสองข้างทำปางแสดงธรรม สันนิษฐานว่าทำขึ้นเพื่อประดับตกแต่งศาสนาสถาน

   แผ่นดินเผาภาพกินรี ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-12 หรือราว 1,400-1,600 ปีมาแล้วลักษณะแผ่นดินเผาภาพกินรีสวมเครื่องประดับศีรษะ อยู่ในท่าเคลื่อนไหว ยกมือขวาและขาซ้ายขึ้นไปด้านหลังเนื่องจากแผ่นภาพชิ้นนี้ค่อนข้างลบเลือนและบางส่วนแตกชำรุดไป จึงไม่สามารถทราบรายละเอียดที่ชัดนักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่าลำตัว และขา น่าจะเป็นลักษณะของสิงห์มากกว่านก จึงอาจจะเป็นสิงห์ ที่มีหน้าเป็นคนซึ่งเป็นภาพที่นิยมทำกันแพร่หลายในอินเดียภาคเหนือสมัยราชวงศ์คุปตะ

   พระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ ศิลปะศรีวิชัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-15 หรือราว 1,100-1,200 ปีมาแล้วลักษณะประติมากรรมสำริดหล่อเป็นรูปพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิหรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญในศาสนาพุทธลัทธิมหายานประจำยุคปัจจุบัน ประทับยืนบนฐานทรงกลม เกล้าพระเกศาสูงมีรูปพระอมิตาภะปางสมาธิอยู่ที่หน้ามวยผม พระหัตถ์ขวาถือลูกประคำ พระหัตถ์ซ้ายถือก้านดอกบัวและคนโทน้ำ มีสายธุรำ พาดคล้องที่พระอังสาซ้าย

   สิงห์สำริด ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือราว 1,200-1,300 ปีมาแล้ว ลักษณะสิงโตเป็นสัตว์สำคัญที่ปรากฏในงานศิลปะมาตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากประเทศอินเดีย เนื่องจากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ปรากฏสัตว์ดังกล่าวอยู่ในธรรมชาติสิงโตสำริดชิ้นนี้เป็นของหายาก นอกจากจะมีขนาดเล็กและหล่อด้วยโลหะสำริดแล้ว ฝีมือในการปั้นยังแสดงถึงอารมณ์ และลักษณะที่เป็นธรรมชาติ ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

   เครื่องประดับรูปกินรี ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 หรือประมาณ 1,600-1,700 ปีมาแล้ว ลักษณะด้านหลังเครื่องประดับทำเป็นห่วงกลม(คล้ายตุ้มหู) ด้านหน้าทำเป็นรูปบุคคลมีหน้าเป็นมนุษย์สมตุ้มหูทรงกลม มีผมเป็นมวย ลำตัวมีขนปกคลุม ขาคล้ายสัตว์ประเภทนก(สันนิษฐานว่าเป็นรูปกินรี)

   เครื่องประดับทองคำรูปหน้าบุคคล ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 หรือราวประมาณ 1,600-1,700 ปีมาแล้ว ลักษณะเครื่องประดับทองคำรูปใบหน้าบุคล (ยักษ์) ด้านหลังทำเป็นห่วงกลมด้านหน้าเป็นรูปบุคคลสามเครื่องประดับศรีษะเป็นช่อแหลมมีขอบกระบังหน้าเป็นสันนูน ตาโปน คิ้วหนา จมูก ใหญ่งุ้ม แก้มป่อง ปากอ้ากว้างเห็นฟันแลบลิ้นออกมา

   เครื่องประดับทองคำ(ลูกปัด) ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 หรือราว 1,400 ปีมาแล้ว ลักษณะลูกปัดทองคำขนาดเล็กรูปทรงกลมพร้อมจี้ทองคำฝังพลอย ตัวจี้เป็นรูปวงกลมมีรัศมีโดยรอบขอบทำลายเม็ดไข่ปลา ตรงกลางมีพลอยสีขาวประดับ ลูกปัดที่พบในเมืองโบราณอู่ทองส่วนมากอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี มีทั้งทำจากหินมีค่าแก้ว ดินเผา และทองคำ ลูกปัดเหล่านี้นอกจากความสวยงามแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีการทำ และเป็นหลักฐานแสดงการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติอีกด้วย

   เศียรพระพุทธรูปทองคำ ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือราว 1,200-1,400 ปีมาแล้ว ลักษณะส่วนของเศียรพระพุทธรูปขนาดเล็กพระพักตร์กลม พระขนงต่อกันปีกกา พระเนตรปิดพระโอษฐ์อมยิ้ม พระกรรณยาวเรียว พระพักตร์แสดงความมีเมตตา แม้จะมีขนาดเล็กแต่มีลายละเอียดคมชัดแสดงถึงความชำนาญของช่างทองสมัยนั้น

   ตราดินเผารูปสัญลักษณ์ทางศาสนาประกอบด้วยอักษรจารึก ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือราว 1,200-1,300 ปีมาแล้ว ลักษณะตราดินเผาทรงกลมแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านบนเป็นภาพวัว ตรีศูลครุฑ (หรือหงส์)โดยเรียงจากซ้ายไปขวา ด้านล่างเป็นตัวอักษร 1 แถว เป็นอินเดียแบบปัลลวะภาษาสันสกฤต หมายถึงเทพตรีมูรติ คือพระศิวะ หรือพระอิศวร พระพรหม พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ โดยภาพสัตว์และสัญลักษณ์ด้านบนอาจหมายถึงพาหนะและศาสตราวุธของพระศิวะและพระวิษณุ

   ตราดินเผารูปสิงห์ ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือราว 1,200-1,400 ปีมาแล้ว ลักษณะแผ่นดินเผาทรงกลม ด้านหน้าตรงกลางทำเป็นรูปสิงห์ยืนหันด้านข้างชันขาหน้าขึ้นตั้งตรง ส่วนขาหลังทั้งคู่งอเล็กน้อย ภาพของสิงห์ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับสิงห์ที่ปรากฏบนพุทธบัลลังก์สมัยอรราวดีของอินเดียประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 – 8

   เหรียญกษาปณ์โรมัน ลักษณะด้านหน้ามีรูปพระพักตร์ด้านข้างของจักรพรรดิซีซ่าร์วิคโตรินุส สวมมงกุฎยอดแหลมเป็นแฉกมีตัวอักษรล้อมรอบอยู่ริมขอบเหรียญ IMP C VICTORINUS PF AUG ซึ่งเป็นคำย่อของ Emperor Caesar Victorinus Felix Augusteแปลว่าจักรพรรดิซีซ่าร์วิคโตรินุส ศรัทธา ความสุข เป็นสง่า ส่วนด้านหลังของเหรียญ เป็นรูปเทพอาธีนา สำหรับจักรพรรดิวิคโตรินุสนั้น เป็นกษัตริย์ของอาณาจักรโรมันครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 812-814

   เหรียญเงินจารึก “ศรีทวารวดี ศวรปุณย”ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือราว 1,200-1,300 ปีมาแล้ว ลักษณะเหรียญโลหะ(เงิน) ทรงกลมด้านหนึ่งมีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตสองบรรทัด อ่านได้ความว่า “ศรีทวารวติ ศวรปุณย” ซึ่งแปลว่า “การบุณย์แห่งพระเจ้าศรีทวารวดี” ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นลวดลายรูปแม่โคกับลูกโคในลักษณะหันด้านข้าง ซึ่งภาพของแม่โคนั้นถือเป็นสัญญาลักษณ์แห่งพลังอำนาจด้านการผลิตของธรรมชาติที่อาจจะมีความสัมพันธ์กับคติของการบูชาคชลักษณมี (เทพีแห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์)


ขอบคุณข้อมูลจาก

suphan.biz

โพสต์โดย : ต้นน้ำ