Social :



@กู่พระโกนา ร้อยเอ็ด

08 ม.ค. 61 22:01
@กู่พระโกนา ร้อยเอ็ด

@กู่พระโกนา ร้อยเอ็ด

กู่พระโกนา

     สถานที่ตั้ง  ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ วัดกู่พระโกนา หมู่ 2 ตำบลสระคู การเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางตามทางหลวงสาย 215 ผ่านอำเภอเมืองสรวง อำเภอสุวรรณภูมิ จากนั้นเข้าสาย 214 ไปประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงกู่พระโกนา ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรจากจังหวัด ปัจจุบันมีวัดสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีถนนเป็นทางแยกเข้าไปทางด้านซ้ายมือ ด้านหน้าเป็นสวนยาง กู่พระโกนา ประกอบด้วย ปรางค์อิฐ 3 องค์ บนฐานศิลาทราย เรียงจากเหนือ-ใต้ ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงล้อมและซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทรายเช่นกัน

    ปรางค์องค์กลางถูกดัดแปลงเมื่อ พ.ศ. 2417 โดยการฉาบปูนทับและก่อขึ้นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีซุ้มพระทั้ง 4 ทิศ หน้าปรางค์องค์กลางชั้นล่างสร้างเป็นวิหารพระพุทธบาทประดับเศียรนาค 6 เศียรของเดิมไว้ด้านหน้า ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ ก็ได้รับการบูรณะจากทางวัดเช่นกัน แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนรูปทรงอย่างปรางค์องค์กลาง ปรางค์องค์ทิศเหนือทางวัดสร้างศาลาครอบ ภายในมีหน้าบันสลักเรื่องรามายณะ และทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ติดอยู่ที่เดิม คือเหนือประตูทางด้านหน้า ส่วนทับหลังประตูด้านทิศตะวันตกหล่นอยู่บนพื้นเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ

    ปรางค์องค์ทิศใต้ ยังคงมีทับหลังของเดิมเหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือเป็นภาพเทวดานั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล นอกจากนี้ทางด้านหน้ายังมีทับหลังหล่นอยู่ที่พื้น เป็นภาพพระอิศวรประทับนั่งบนหลังโค และมีเสานางเรียงวางอยู่ด้วย สันนิษฐานว่า กู่พระโกนาเดิมจะมีสะพานนาคและทางเดินประดับเสานางเรียงทอดต่อไปจากซุ้มประตูหน้าไปยังสระน้ำ หรือบารายซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร จากรูปแบบลักษณะทางศิลปกรรมทั้งหมดของภาพสลัก และเสากรอบประตู ซึ่งเป็นศิลปะขอมที่มีอายุในราว พ.ศ. 1560-1630 (แบบบาปวน) สันนิษฐานว่ากู่พระโกนาคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่16

    เส้นทางการเดินทาง อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 60 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 215 ผ่านอำเภอเมืองสรวง อำเภอสุวรรณภูมิ จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 214 ไปประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงกู่พระโกนา อยู่ทางซ้ายมือ ด้านหน้าทางเข้าจะเป็นสวนยาง บริเวณวัดมีลิงแสมอาศัยอยู่

     ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ททท. สำนักงานขอนแก่น โทร. 0 4322 7714-5
http://www.tourismthailand.org/khonkaen

ทางเข้าวัดกู่พระโกนา

     ทางเข้าวัดกู่พระโกนา กู่พระโกนา เป็นอีกหนึ่งโบราณสถานที่อยู่ในอาณาเขตของวัด ได้รับการดูแลโดยทางวัดมาเป็นเวลาช้านาน เขตของวัดกู่พระโกนาค่อนข้างกว้างขวางพื้นที่ด้านหน้าตรงทางเข้ามาเป็นป่าไม้ใหญ่ร่มรื่นมาก มีลิงอาศัยอยู่ในวัดเยอะ ถ้าจะลงจากรถให้ระวังลิงให้ดีด้วย

กู่พระโกนา

ป้ายปรางค์กู่

     ป้ายปรางค์กู่ คำว่ากู่ของชาวอีสาน ใช้เรียกพระธาตุหรือพระปรางค์เก่าแก่โบราณ เวลาไปเที่ยวแถบอีสานจึงได้ยินคำว่ากู่บ่อยๆ ป้ายที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ องค์พระปรางค์กู่พระโกนา เขียนว่าปรางค์กู่ เลยทำให้สับสนว่าที่นี่คือกู่พระโกนาหรือปรางค์กู่ เพราะที่ร้อยเอ็ดมีโบราณสถานชื่อปรางค์กู่อีกแห่งหรือบางทีก็เรียกกันว่า ปราสาทหนองกู่

กู่พระโกนา

     กู่พระโกนา โบราณสถานประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 หลัง ตั้งบนฐานศิลาแลงเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระทั้ง 4 ทิศ และกำแพงล้อมอยู่โดยรอบ ปัจจุบันตัวโบราณสถาน ถูกดัดแปลงสภาพไปมาก โดยเฉพาะปรางค์องค์กลาง ถูกฉาบปูนทับและก่อขึ้นใหม่เป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีซุ้มพระพุทธรูป ประดับอยู่ทั้่ง 4 ทิศ หน้าบันปรางค์ทิศเหนือสลักเรื่องรามายณะ ทับหลังเหนือประตูด้านหน้า เป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ ส่วนด้านทิศตะวันตก หลุดตกอยู่บนพื้นเป็นภาพนารายณ์ทรงครุฑ ปรางค์องค์ทิศใต้ยังเหลือทับหลังติดอยู่ที่กรอบประตูหลอกด้านทิศเหนือ สลักเป็นรูปเทวดานั่งชันเข่าอยู่เหนือหน้ากาล รูปแบบศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่บนทับหลังและหน้าบันเหล่านี้จัดอยู่ในศิลปะเขมรแบบบาปวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16

กู่พระโกนา

     กู่พระโกนามีกำแพงล้อมมีทางเข้า 4 ทาง แต่หลังจากที่พังลงมาแล้วยังคงเหลือทางให้เข้าได้ 2 ทางคือด้านหน้าและด้านหลัง แต่ทางด้านหน้าทางวัดได้จัดสร้างทางเดิน และบูรณะต่อเติมสร้างวิหารขึ้นมาใหม่ จึงเป็นทางเข้าที่สะดวกสุด

กู่พระโกนา

Lif
     การก่อสร้างต่อเติมวิหารออกมาจากปรางค์ ไม่มีข้อมูลบันทึกว่าสร้างในปีไหน แต่มีการบูรณะใน พ.ศ. 2530 วิหารเป็นที่พระดิษฐานพระพุทธรูป และรูปเหมือนอดีตท่านเจ้าอาวาสที่ดูแลปรางค์กู่พระโกนาและวัดแห่งนี้ในสมัยนั้น

กู่พระโกนา

     จากข้อมูล ของกรมศิลปากร บอกไว้ว่า ปรางค์องค์กลางมีการต่อเติมเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการฉาบปูนองค์พระปรางค์ขึ้นมาใหม่ จนไม่เหลือเค้าเดิมให้เห็นมากเท่าไหร่ เดาว่าคนในสมัยนั้นเห็นพระปรางค์เก่าแก่ตั้งอยู่กลางวัดคงอยากจะบูรณะซ่อมให้แลดูสวยงาม เลยฉาบปูนรอบพระปรางค์ดูเหมือนองค์พระธาตุหลายๆ องค์ในภาคอีสาน

กู่พระโกนา

หลวงปู่ชม ฐานะธัมโม

     หลวงปู่ชม ฐานะธัมโม รูปเหมือนท่านอดีตเจ้าอาวาสวัดกู่พระโกนา ที่ชาวบ้านและคนไทยในหลายๆ พื้นที่รู้จัก ท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่มีวิชาอาคมหลายด้าน เป็นผู้ที่ดูแลรักษากู่พระโกนามาเป็นอย่างดีและไม่ยอมให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะ เชื่อกันว่าจนทุกวันนี้คงยังมีวัตถุโบราณมากมายอยู่ในกู่พระโกนา

ทับหลัง กู่พระโกนา

     ทับหลัง กู่พระโกนา รอบๆ พระปรางค์ เรายังพอมองเห็นทับหลัง ชิ้นงานแกะสลักที่สวยงามประจำโบราณสถานศิลปะขอม พระในวัดเล่าให้ฟังว่า ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีกรมศิลปากรเข้ามาขอทำการบูรณะซ่อมแซมกู่พระโกนา แต่ด้วยในสมัยนั้นมีโจรลักลอบขุดโบราณสถานกันเยอะเพื่อค้นหาของมีค่า แม้แต่กู่พระโกนาเองก็มีโจรเข้ามาขุด บางคนก็งัดแงะเอารูปสลักเทวดา เทพต่างๆ บนทับหลังหลุดหายไป อดีตเจ้าอาวาสไม่อนุญาตให้กรมศิลปากรทำการบูรณะ แล้วจึงค่อยๆ สร้างกุฎิ วิหาร ขึ้นมาติดกับองค์ปรางค์เอาไว้ แล้วดูแลเป็นอย่างดี สภาพที่เราเห็นวันนี้จึงเป็นโบราณสถานที่มีการก่อสร้างอะไรหลายๆ อย่างเข้าไป

พระพุทธรูปรอบปรางค์

     พระพุทธรูปรอบปรางค์ ที่เราเห็นทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนองค์พระปรางค์ น่าจะสร้างขึ้นมาใหม่ตอนที่ฉาบปูนรอบพระปรางค์ ไม่ใช่ของขอมโบราณ

กำแพงกู่

     กำแพงกู่ ด้านหน้าวัดที่เราเข้ามา มีทางเดินข้ามกำแพงได้ แต่เดินลำบากหน่อยเลยแนะนำให้ไปเข้าด้านหน้าดีกว่า กำแพงรอบกู่พังลงมามากเดิมน่าจะมีซุ้มประตูหรือโคปุระ แต่ตอนนี้เห็นเพียงแนวกำแพง

ทับหลังหล่นจากปรางค์

     ทับหลังหล่นจากปรางค์ ทับหลังที่อยู่ด้านตะวันตกหรือด้านหลังของกู่ หลุดตกลงมาอยู่ที่พื้น ภาพนารายณ์ทรงครุฑ จากวันนั้นจนวันนี้ทับหลังชิ้นนี้ก็ยังอยู่ที่พื้นเหมือนเดิมแต่ย้ายที่วางใหม่เพื่อความสวยงาม

กู่พระโกนา

กู่พระโกนา

ปรางค์องค์ทิศเหนือ

     ปรางค์องค์ทิศเหนือ จากปรางค์องค์กลางที่ค่อนข้างสมบูรณ์เพราะมีการต่อเติมใหม่ขึ้นมาจนดูเหมือนพระธาตุ คราวนี้มาดูปรางค์องค์ที่อยู่ด้านข้างทางทิศเหนือกันบ้าง ปรางค์ทั้ง 3 องค์อยู่ใกล้กันมาก มีช่องว่างทางเดินระหว่างกลางไม่กว้างเท่าไหร่ องค์กลางสร้างวิหารต่อยื่นออกไปเหมือนมุข ส่วนองค์ทิศเหนือนี้ สร้างกุฎิต่อออกไปด้านหน้า เว้นช่องตรงกลางระหว่างกุฎิกับปรางเอาไว้ประมาณ 1 เมตร แล้วสร้างประตูเหล็กปิดทางเข้าออกช่องตรงกลาง จากคำบอกเล่าของพระที่วัด เล่าว่า ปรางค์ทุกองค์เป็นเป้าหมายของโจรขุดโบราณสถาน แต่มีองค์กลางและองค์ทิศเหนือที่โจรจะเข้ามาลักของบ่อย ทับหลังบนซุ้มประตูก็ถูกงัดเอารูปสลักตรงกลางออกไป แต่มีความประหลาดที่มีจอมปลวกเล็กๆ มาสร้างอยู่ตรงรูปที่ถูกงัด เลยดูเหมือนพระพิฆเณศนั่งอยู่กลางทับหลัง ชาวบ้านก็มากราบไหว้บูชาตลอด 

ห้องในพระปรางค์

     ห้องในพระปรางค์ ปรางค์ด้านทิศเหนือที่ถูกสร้างกุฎิเชื่อมต่อออกมาด้านหน้า ทำประตูปิดล็อคแน่นหนาระหว่างกุฎิกับองค์พระปรางค์ ในห้องตรงกลางของพระปรางค์ ยังมีการสร้างลูกกรงสแตนเลสขนาดใหญ่ปิดตายเอาไว้อีก 1 ชั้น ภายในมองไม่ค่อยเห็นว่ามีอะไรอยู่ พระลูกวัดเองก็ไม่สามารถตอบได้ ได้แต่เล่าว่าหลวงปู่ชม ฐานะธัมโมอดีตเจ้าอาวาสวัดกู่พระโกนาสร้างเอาไว้ และบอกเหตุผลว่าทำไมไม่ให้กรมศิลปากรมาทำการขุดและบูรณะ ด้วยเกรงว่าพอโจรรู้เข้าจะบุกเข้ามาขุดสร้างความเสียหายให้องค์พระปรางค์ เมื่อปิดตายเอาไว้ก็อยากให้สิ่งของที่อยู่ในปรางค์เป็นมรดกตกทอดให้รุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป

นมัสการหลวงปู่

ขอบคุณข้อมูลจาก
touronthai.com

โพสต์โดย : ต้นน้ำ