Social :



Check in Hua Hin...ตามติดชีวิตริมหาดของผู้อยู่เบื้องหลังมนต์เสน่ห์เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

24 มิ.ย. 59 18:41
Check in Hua Hin...ตามติดชีวิตริมหาดของผู้อยู่เบื้องหลังมนต์เสน่ห์เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

Check in Hua Hin...ตามติดชีวิตริมหาดของผู้อยู่เบื้องหลังมนต์เสน่ห์เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

Check in Hua Hin

ตามติดชีวิตริมหาดของผู้อยู่เบื้องหลังมนต์เสน่ห์เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

 

เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควร หลังจากจบทริปเจาะวิชันของผู้บริหารเทศบาลเมืองหัวหิน “นพพร วุฒิกุล” ทีมงานนิตยสารผู้นำท้องถิ่นมีโจทย์ต่อไปคือการลงสนามตามหาสิ่งที่น่าสนใจของเมืองแห่งนี้มาฝากผู้อ่านทุกท่าน แต่ด้วยการเป็นเมืองที่มากล้นด้วยเรื่องราว เป็นไปได้ยากยิ่งที่เราจะรวบรวมเอา “มนต์เสน่ห์” ทั้งหมดมาลงพื้นที่อันจำกัดนี้ได้ เอาแค่เรื่องชายหาดที่ทอดยาวจากเหนือจรดใต้ ก็มีด้านมุมอันหลากหลายจนทำให้หลายคน “หลงรัก” มานักต่อนักแล้ว

 

เชื่อเหลือเกินว่า หลายคนก็กำลังคิดเช่นเรา เพราะคนที่เคยมาเที่ยวที่นี่ส่วนใหญ่ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “เสียดายที่มีเวลาน้อยเกินไป” ส่วนคนที่ไม่คิดเหมือนคนส่วนใหญ่นะหรือ ใช่ว่าเขาขาดสัมผัสอันสุนทรีย์เช่นเราไม่ เพียงแต่...เขามาที่นี่เป็นประจำต่างหาก

 

รถคันเล็กลัดเลี้ยวไปตามเส้นทางสายเก่าตั้งแต่เช้าตรู่เฉกเช่นเมื่อไม่กี่วันก่อนที่เราเดินทางมา ต่างเพียงแต่เป้าประสงค์ที่เราหาจุดลงตัวได้ไม่ชัดเจนนัก แต่ก็เอาเถอะ...แม้เราจะรู้อยู่เต็มอกว่าไม่สามารถหาจุดหลักของเมืองนี้มาเล่าเรื่องหรือบรรยายให้เห็นภาพได้ทั้งหมด แต่ในสถานที่ที่เราปักหมุดหมายว่าจะไปในวันนี้ เราจะลองขุด เราจะลองค้น เราจะลองมองหาด้านมุมของ “คน” ที่คุณผู้อ่านไม่ทันได้สังเกตมาฝากกัน เพราะอะไรนะหรือ... เพราะเราเชื่อว่า “คน” คือส่วนผสมที่ทำให้เมืองแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์เพิ่มขึ้นมาไม่มากก็น้อยนั่นเอง

 

 

ลงทะเบียน @ บ้านศิลปิน ฟินไปกับงานศิลปะ inbox กับครูจิตอาสา 

ผู้อุทิศตัวเพื่อเด็กด้อยโอกาส

 

เราวางแผนจะมาที่ “บ้านศิลปิน” เพราะเชื่อว่าเมืองที่มากด้วยมนต์เสน่ห์เช่นนี้น่าจะเป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าศิลปินได้สร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นเยี่ยม เมื่อถึงหน้าประตูทางเข้า เราก็ไม่ผิดหวัง เมื่อเอเลี่ยนไซส์มหึมาที่สร้างจากเหล็กกล้าและจินตนาการของศิลปินยืนรอต้อนรับ แวะเสพแวะชมรูปภาพและงานหัตถศิลป์กันตามอัธยาศัยได้สักพัก ทีมงานของเราก็ไปพบเข้ากับบางมุมที่น่าสนใจในบ้านหลังใหญ่หลังนี้...

 

Hua Hin Junior Artists Club มองจากภายนอกอาจไม่โดดเด่นเหมือนส่วนอื่นๆ ในบ้านหลังนี้ แม้ชิ้นงานที่แขวนเรียงรายจะดูสดใสตามวัยของผู้รังสรรค์ แต่สิ่งที่นำพาให้ทีมงานเรามารวมกันอยู่ในมุมเล็กๆ มุมนี้คือ ศิลปินตัวน้อยๆ กับเสื้อผ้ามอๆ ที่กำลังละเลงสีลงไปในกระดาษวาดรูปด้วยท่าทางขะมักเขม้น กับผู้ใหญ่ 2 คนที่ยืนดูอยู่ห่างๆ ด้วยแววตาเอื้ออาทร

 

 

ได้โอกาสเข้าไปปราศรัยจึงทำให้ทราบความนัย โรงเรือนหลังเล็กที่เด็กๆ อาศัยฝึกฝนจินตนาการแห่งนี้ริเริ่มขึ้นจากความเอื้อเฟื้อของผู้ใหญ่ 3 ท่าน คือ อ.ทวี เกษางาม ผู้ก่อตั้งบ้านศิลปิน พ.อ.เทียบ-อ.แก้วตา วรรณภักตร์ สองสามีภรรยาผู้อุทิศตัวให้เด็กยากไร้ โดยใช้เวลาว่างในวันเสาร์-อาทิตย์ตระเวนรับเด็กๆ ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ นำพวกเขามารวมกลุ่มแล้วเปิดโอกาสให้แสดงพรสวรรค์

 

“ตอนนั้นน้องต๊ะอยู่ ป.2 เขาไปประกวดวาดรูปแล้วได้ที่ 1 หรือที่ 2 นี่แหละ อ.ทวี เป็นกรรมการ เขาบอกว่าจะให้มาเรียนฟรีที่นี่ 1 คน ครูกับสามีก็เลยมาพูดกับอาจารย์ว่า ขอ 10 คนได้ไหม นั่นคือจุดเริ่มต้น คือจุดประสงค์ที่ทำโครงการนี้ เราอยากได้เด็กที่เสี่ยงๆ เข้ามา เด็กเหล่านี้เขาต้องการโอกาส เด็กบางคนครอบครัวแตกแยก เด็กบางคนพ่อแม่ยากจน เราไม่อยากปล่อยเขาไว้แบบนั้น เราอยากให้เขาได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์” อ.แก้วตา ครู รร.เทศบาลบ้านเขาเต่า บอกกับเราด้วยน้ำเสียงจริงจัง

 

“ที่ผ่านมาเราก็ไปหามาได้พอสมควร เด็กบางคนฝีมือดีมาก แต่ก็มาได้ไม่นานก็หายไป คือผมกับภรรยาไปรับเองทั้งหมดก็ไม่ไหว ผู้ปกครองบางคนเขาก็ไม่มีกำลังมาส่ง ค่าใช้จ่ายก็ของเราเอง เราสร้างที่นี่เอง แต่ค่าที่ อ.ทวี ให้ฟรี น้ำไฟท่านก็ให้ใช้ฟรี ขาดอย่างเดียวคือรถที่จะไปรับเด็กมาเรียน เขาก็ขาดเราก็ขาด สุดท้ายเด็กก็หายไป น่าเสียดาย...” อดีตรั้วของชาติสะท้อนอีกด้านมุมให้เราฟังอย่างหมดเปลือก

 

 

“หนูกำลังวาดอะไรครับ ใช่จระเข้หรือเปล่า”

 

“ไม่ช่ายยย ตัวตะกวด”

 

“อ้าว พี่นึกว่าจระเข้”... “เขาเรียก มังกรโคโมโด”...“อ๋อ...”

 

“เริ่มสอนเขาจากวงกลมค่ะ เราให้เขาเอาวงกลม 10 วง มาทำให้เป็นภาพ คือภาพทุกอย่างมันเริ่มที่วงกลม จากนั้นก็จะเป็นสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม แล้วเขาก็จะไปต่อยอดด้วยจินตนาการของเขาเอง เราหาหนังสือรูปให้เขาดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ศิลปินคนอื่นๆ ก็ผลัดเปลี่ยนกันมาให้คำแนะนำตามแต่โอกาส”

 

บรรยากาศใต้หลังคาเนื้อที่ไม่เกิน 10 ตารางเมตร อบอวลไปด้วยรอยยิ้มและความเมตตาระหว่างครูและลูกศิษย์ เด็กแต่ละคนจดจ้องอยู่กับชิ้นงานตรงหน้า บ้างลงสี บ้างกำลังร่างเส้น บ้างเริ่มเก็บรายละเอียดแล้ว

 

“หนูลองไปใส่เส้นดูสิลูก ทำให้มันชัดขึ้น ครูว่ามันน่าจะสวยขึ้นนะ”

 

“หนูลองดูสีให้มีความแตกต่าง มันจะได้โดดเด่นขึ้น เขียนชื่อลงในรูปของตัวเองด้วยนะ”

 

ม้าบิน เสือชีตาห์ ช้าง ปู ปลา ดอกไม้ ภาพวาดเล็กๆ ในกรอบแขวนเรียงราย บางทีคุณค่าของมันหาได้อยู่ที่ความสวยงามขององค์ประกอบ ศิลปะ...มีค่าอยู่ที่จิตใจ ยิ่งได้รู้ที่มา มูลค่าของงานบางทีมากกว่าราคาที่ติดไว้ด้วยซ้ำ

 

“ภาพที่เด็กวาดเราวางที่นี่ที่เดียวค่ะ เราจำหน่ายแล้วเก็บเงินไว้ให้เด็กที่เป็นเจ้าของภาพทั้งหมด เราไม่เคยคิดหาผลประโยชน์จากเขา คุณลองถามต๊ะดูก็ได้...หนูได้เงินจากการขายรูปไปเท่าไรแล้วลูก”

 

“หนึ่งหมื่นบาทครับ...” เด็กชายผู้เป็นต้นกำเนิดของโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หันมาตอบคำถามด้วยแววตาสดใส แล้วก้มหน้าวาดรูปต่อไป

 

“ทีแรกที่เราอยู่ที่นี่ไม่ได้มีโครงสร้างแบบนี้นะ กางร่มเอา พอเวลาฝนตกก็ต้องรีบหอบสัมภาระเข้าไปข้างใน อ.ทวี กับเราก็เลยช่วยกันสร้างขึ้นมา เด็กจะได้มีโอกาสแขวนผลงานเขาด้วย ตอนนั้นได้ทุนจากเอกชนด้วย ทุนเราเองด้วย เมื่อไม่นานนี้ ท่านทูตฯ วรพจน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ท่านก็มาช่วยเอาภาพเด็กไปทำเสื้อยืดกับทำโปสการ์ดให้เราเอามาขาย เพิ่มรายได้ให้เด็กอีกทาง”

 

“ตัวเล็กครับ ทำไมถึงชอบศิลปะครับ...”

 

“ชื่ออะไรครับ...” ไม่มีเสียงตอบจากเจ้าคนตัวเล็กสุด

 

“หนูเรียนอยู่ชั้นไหนแล้วครับ”...“ชั้น 1 (ป.1) )” เด็กน้อยก้มหน้าด้วยความอาย

 

“ทำไมหนูไม่ลองชวนเพื่อนแถวบ้านมาเรียนด้วยล่ะครับ”

 

“หนูมีเพื่อนอยู่ที่นี่”

 

บางทีโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ก็ให้อะไรกับเด็กได้มากกว่าที่ตาเห็น

 

 

เราใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ ได้สักพัก อ.แก้วตา ก็พาเราไปทำความรู้จัก “อ.นาง” ภรรยาของ อ.ทวี ที่กำลังทำ Workshop อยู่กับลูกศิษย์กลุ่มใหญ่ด้านในของตัวบ้าน ในบรรยากาศที่เคล้าคลอด้วยเสียงดนตรีแปลกหูเบาๆ

 

“15 ปีแล้วค่ะที่ อ.ทวี สามีของพี่เขาสร้างที่นี่ขึ้นมา เรื่องนี้มันอยู่ในหัวเขามานานแล้ว เขามองว่าถ้าเรารวมกลุ่มกันแล้วมันน่าจะมีพลังมากกว่าทำแกลเลอรีของใครของมัน คือเราเป็นศิลปินที่หากินโดยการวาดรูปเต็มตัว เราทำอาชีพนี้เลี้ยงปากท้องกันตรงๆ อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราขายก๋วยเตี๋ยวเสร็จแล้วก็มาวาดรูป ไม่ใช่ เราตื่นขึ้นมาปุ๊บ เราก็วาดรูปๆ”

 

 

หุ้นส่วนชีวิตของ อ.ทวี เปิดใจถึงที่มาที่ไปของบ้านศิลปิน บนโต๊ะทำงานเต็มไปด้วยงานศิลป์ชิ้นเยี่ยม บ่งบอกถึงความคร่ำหวอดในอาชีพเลี้ยงปากท้องได้เป็นอย่างดี

 

“ศิลปะเป็นปัจเจกของแต่ละคนค่ะ แล้วแต่ศิลปินคนไหนถนัดสร้างงานแบบไหน ปั้น วาด แกะสลัก ทำเสื้อยืด ทำผ้ามัดย้อม ที่นี่มีทั้งหมด 20 กว่าร้าน ที่บอกว่ากว่าๆ คือบางทีมันก็ลดก็เพิ่มตามสไตล์ของศิลปิน เราไม่มีการบังคับกัน เราไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ อาชีพอย่างเรามันหาความมั่นคงไม่ค่อยจะได้ เราก็ช่วยเหลือกันไป

 

...เอาแน่ไม่ได้หรอกค่ะ เพราะว่ามันไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดคนได้มากขนาดนั้น แล้วแต่ละวันงานเราก็ยุ่งอยู่ด้วย ก็อย่างที่เห็น ศิลปินแต่ละคนก็จะมีมุมใครมุมมันเพื่อสร้างงานที่ตัวเองถนัด ในนี้หลักๆ ก็จะมีหอศิลป์ สตูดิโอของศิลปินแต่ละท่าน ส่วนตัวพี่เองเปิดสอนก็เพราะมองว่าศิลปะคือความสุข ก็เลยอยากจะแบ่งปันความสุขให้คนที่ชอบเหมือนๆ กัน ตรงนี้ฝรั่งชอบมาก บางครั้งก็มีมาจากโรงเรียน จากมหา ลัย 100-200 คน มาทำ Workshop ก็มี”

 

แม้วันนี้จะไม่มีคนเข้ามาทำ Workshop ถึงหลักร้อย แต่ดูเหมือนว่า อ.นาง จะมีงานมากมายให้ต้องทำตลอดทั้งวัน ก่อนจากเราจึงขออนุญาตปลีกตัวไปค้นหาบางสิ่งตามคำแนะนำชวนสงสัยที่อาจารย์สอนศิลป์ให้มา

 

“ศิลปะคือความสุข เราอยากแบ่งปันความสุขให้คนที่มาที่นี่”

 

ด้วยข้อจำกัดของเวลา เราจึงไม่อาจเสพงานศิลป์ได้ครบทุกชิ้นงานอย่างที่หวัง ก่อนออกจากนิเวศสถานแห่งนี้ หนึ่งในทีมงานเราแวะกลับไปอุดหนุนเสื้อยืดสีดำที่สกรีนภาพของน้องต๊ะ เสื้อตัวนี้ เนื้อผ้าและราคาไม่ต่างจากท้องตลาด แต่สำหรับคนที่หยิบจับติดมือมา คุณค่าของมันคือความสุขทางใจ

 


 

@ เขาตะเกียบ เช็ค status ของ คน(หา)กิน(กับ)หาด  

ส่วนผสมแห่งมนต์เสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวประทับใจ

 

เราเลือกกลับมาที่ชายหาดทางฝั่งด้านเหนือของเขาตะเกียบอีกครั้ง หลังจากไม่กี่วันก่อนสถานที่แห่งนี้ถูกเราใช้เป็นโลเกชั่นถ่ายทอดความงามของทะเลหัวหิน โดยมีนายกเทศมนตรีของเมืองนี้เป็นนายแบบ ด้วยหาดทรายที่ทอดยาวจากเขาตะเกียบลงไปจนถึงเขตวังไกลกังวล ร้านรวงและโรงแรมบริเวณนี้ยังไม่หนาตาเท่าใดนัก ที่นี่จึงดูเงียบสงบเป็นส่วนตัวจนทำให้เราอยากกลับมาเยือนอีกครั้ง เพื่อเก็บความงามที่ยังตกหล่นเหมือนหลายๆ คนที่เลือกใช้แดดลมของชายหาดแห่งนี้เพื่อละลายความเมื่อยล้าจากการงาน

 

ตะวันบ่ายคล้อย...ทิวสนและต้นมะพร้าวถูกใช้เป็นร่มเงาหลบพักของนักท่องเที่ยวบางส่วน เตียงชายหาดยังไม่ถูกจับจองมากนัก ชาวต่างประเทศในอิริยาบถผ่อนคลาย บ้างนอนอ่านหนังสือ บ้างพูดคุย บ้างกำลังพักผ่อนเป็นคู่ๆ บ้างจูงมือลูกน้อยสู้แดดรับลมเลาะเลียบคลื่นที่เข้ามากระทบฝั่งเบาๆ ไกลลิบๆ  บานาน่าโบ๊ทถูกเรือลากแล่นออกซ้ายที-ขวาที ไม่นานก็ได้ยินเสียงกรีดร้องอย่างสนุกสนาน...

 

“ขี่ม้าไหมครับพี่ ขี่ม้าเดินชมหาด...”

 

เสียงเรียกจากใต้ต้นสนทำให้เราได้พบเจอกับ “พี่มนัส” ชาวหัวหินโดยกำเนิดที่เลือกยึดอาชีพเก่าแก่คู่หาดหัวหินเลี้ยงครอบครัวมาเกือบ 5 ปี ด้วยท่าทีเป็นมิตร และจุดมุ่งหมายของเราที่อยากจะตามหาบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังมนต์เสน่ห์ของเมืองท่องเที่ยวระดับโลกแห่งนี้ เราจึงไม่รอช้าที่จะเข้าไปทำความรู้จักและขอให้ผู้ชายหน้าไทยหัวใจคาวบอยคนนี้ เล่าบางแง่มุมที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่ได้สัมผัส

 

“เมื่อก่อนผมไปหากินที่อื่นครับ ก็ทำหลายอย่าง งานโรงงาน ช่างไฟฟ้า งานโรงแรม ทำมาหมด สุดท้ายพอกลับมาอยู่บ้าน บังเอิญมีช่อง มีคนแนะนำ อาชีพนี้เขาให้สิทธิ์คนพื้นที่ก่อน พอได้เบอร์เราก็ไปอยู่หาดไหนก็ได้ ผมเลยมาประจำอยู่หาดนี้ บ้านผมอยู่แถวนี้ครับ ได้ทำงานอยู่บ้านมีความสุขที่สุดแล้ว ไม่คิดไปทำมาหากินที่อื่นแล้วครับ”

 

 

 

 

เจ้าของม้าที่ชื่อ

MulticollaC
“ช็อกโกแลต” เริ่มบอกเล่าเรื่องราวสู้ชีวิตของตัวเองด้วยสำเนียงแปร่งๆ ของคนพื้นที่ หลังจากที่เห็นว่าผู้มาเยือนอย่างเรามีท่าทีสนใจในอาชีพการงานของตัวเขา

 

“อาชีพนี้มันก็มีทั้งวันที่ได้ แล้วก็วันที่ไม่ได้ครับ อย่างวันนี้ตั้งแต่เช้ามาผมเพิ่งได้ 200 เองครับ ได้เที่ยวเดียว แดดมันยังร้อนอยู่ น่าจะเป็นตอนเย็นๆ โน่นแหละครับคนถึงจะลงมา คนจะลงเล่นน้ำหาดนี้เย็นๆ ถึงมืดครับ ออกเที่ยวแรกก็เหมือนกับค่าอาหารม้า ถ้าวันไหนโชคดีหน่อย อย่างวันหยุดหรือวันเทศกาลก็ได้เยอะหน่อย ประมาณ 2 พัน แต่ว่าเราก็ต้องเดินทั้งวันนะ ม้าก็ต้องกินเยอะขึ้นเหมือนกัน

 

...เที่ยวละ 200 ครับ 15 นาที ตามกฎที่เทศบาลตั้งมาให้ คือเราต้องบริการลูกค้าในอัตราเดียวกันหมด มันก็สมน้ำสมเนื้อนะผมว่า ม้าเราก็กินเยอะ วันหนึ่งเขาต้องกินหญ้า กินหัวอาหาร รวมแล้วก็ 200 ขึ้นครับ มันอยู่ที่การเลี้ยงดูของเจ้าของด้วย ถ้าเราให้เขากินอิ่ม เขาก็แข็งแรงสมบูรณ์ เขาก็เหมือนเราล่ะครับ มีเจ็บมีป่วย เขาช่วยเราหากิน เขาก็เหมือนคนในครอบครัว”

 

ม้า 2-3 ตัว ทยอยกันกลับมาตรงจุดที่เราอยู่ หลังจากที่เจ้าของพวกมันพาออกไปเดินหาลูกค้า ซึ่งแม้บ่อยครั้งพวกเขาจะพบกับความผิดหวังว่างเปล่า แต่ตราบใดที่ตะวันยังไม่ตกดิน เหล่าคาวบอยพร้อมม้าคู่ใจก็พร้อมที่จะออกไปให้บริการกับลูกค้าที่อยากจะขึ้นไปนั่งรับลมชมทะเล

 

“คนนั้นหลานผมครับ ม้าเขาชื่อติอาโก้ เพิ่งซื้อมา ก็หลายหมื่นอยู่ กำลังฝึกคนอยู่ครับ ม้าไม่ต้องฝึกหรอก ม้าไทยเชื่องทุกตัว”...คาวบอยหนุ่มน้อยในเสื้อลายสกอตยิ้มให้เราอย่างเขินๆ

 

“เรื่องภาษาผมเองก็ไม่เก่งนะครับ อาศัยฝึกเอา แล้วก็อาศัยว่าสนิทกับคนทั้งหาด คือคนบนหาดนี้พึ่งพากันทั้งหมดล่ะครับ ช่วยเชียร์แขกให้กัน ทั้งคนนวด ขายของ เรือ เราหากินบนแผ่นดินเดียวกัน เราช่วยกันทุกคนครับ”

 



ออกเดินเท้าก้าวไปตามหาดทรายนุ่ม เรากำลังมองหาคนที่มีอาชีพบริการนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับพี่มนัส ซึ่งหากจะเอ่ยถึงอาชีพบริการแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คืออาชีพหนึ่งที่มีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาเยือนบ้านเรา

 

ป้าย Massage Service นำพาเราให้เข้าไปทำความรู้จักกับ “น้องปั๋ง” สาวหัวหินที่กำลังนั่งรอลูกค้าใต้ร่มมะพร้าวในมุมหนึ่งของหาด เตียงไม้ที่ปูด้วยผ้าสีฟ้า ข้างๆ ตัวมีเพื่อนร่วมงานของเธอกำลังขะมักเขม้นกับการกดนวดไปตามเนื้อตัวของลูกค้าด้วยฝีมือที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างช่ำชอง ดูเหมือนว่าแรงมือที่กดลงไปแต่ละครั้งเป็นเสมือนยานอนหลับชั้นดีที่ลูกค้าจ่ายเงินแลกกับการที่เนื้อตัวจะได้โล่งสบาย ตามสไตล์... Thai Massage

 

“บางคนก็ชอบนวดหนักๆ บางคนก็ชอบเบาๆ แล้วแต่เขาจะติดมือใครค่ะ หนูเองก็มีลูกค้าประจำที่เขามาบ่อยๆ ส่วนใหญ่คนที่เคยนวดตรงนี้เขาก็จะมาตรงนี้นะ บางคนมาก็เรียกแต่เราโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่หน้าเดิมค่ะ คือเขาติดมือเราแล้ว ลูกค้าส่วนมากเป็นฝรั่งค่ะ ภาษาก็ได้บ้าง ถ้าเป็นเรื่องการนวดนะ (หัวเราะ)

 

...ทำมา 3 ปีแล้วค่ะ ตอนนี้ก็อายุ 25 เรียนมาค่ะ เรียนนวดมาโดยตรง รายได้เราก็ได้เป็นชั่วโมงค่ะ นวดชั่วโมงหนึ่งก็ 300 เราได้ 200 โรงแรมเอาไป 100 เราใช้สถานที่ของเขา ก็มีทิปบ้าง ร้อยหนึ่งประมาณนี้ เพื่อนๆ หนูที่ทำอยู่ตรงนี้ ถ้าในวันปกติ แขกไม่เยอะ ก็ประจำอยู่ 2 คน แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าไฮ ก็หลายคนค่ะ” สาวน้อยชาวตะเกียบถ่ายทอดประสบการณ์ของเธอให้เราฟัง

 

กลิ่นหอมอ่อนๆ ของน้ำมันที่ใช้นวดโชยมาแตะจมูก ลมทะเลโกรกเย็นสบาย ลูกค้าถูกฝ่ามือหมอนวดสาวแผงฤทธิ์ เธอดูหลับสนิทและคงกำลังฝันดี

 

“จะมานวดที่หาดได้ เราก็ต้องมีใบลงทะเลก่อนนะคะ ก็คือเราไปขอใบอนุญาตนวดในหาดจากเทศบาล แต่คนที่จะขอได้ต้องผ่านหลักสูตรการนวดมาก่อนนะ คือต้องนวดเป็นจริงๆ หนูจบจากโรงเรียนที่กรุงเทพ ก็กลับมาหากินอยู่ที่บ้าน หัวหินสงบ น่าอยู่ แล้วก็มีพร้อมทุกอย่าง อยากอยู่บ้านค่ะ พ่อแม่หนูก็อยู่ที่นี่”

 

 

แม่ค้าสาว 2 คนเดินวนเวียนไปตามเตียงชายหาด ปากก็ไถ่ถามชาวต่างชาติว่าต้องการสินค้าในมือที่เธอถืออยู่หรือไม่ อัธยาศัยเธอดูมากไมตรี แม้จะถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ใบหน้าของพวกเธอยังเปื้อนด้วยรอยยิ้มไม่สร่างซา เรามองพวกเธออยู่นาน จนกระทั่งหมวกสีแดงลายสดใสถูกลูกค้าคนหนึ่งเลือกไปสวมใส่ เราจึงได้โอกาสเข้าไปเจรจา

 

“ขายอะไรกันครับพี่”...“หมวกคลุมผมค่ะ สนใจไหม 50 บาทเอง”

 

อันที่จริงทีมงานเราไม่มีใครคิดอยากลงเล่นน้ำ ด้วยว่าวันนี้เรามีสถานที่ให้ต้องไปอีกหลายแห่ง แต่สิ่งที่เราต้องการคือ เราอยากรู้ว่าแม่ค้าและสินค้าที่พวกเธอเร่ขายตามชายหาดมีที่มาที่ไปและราคาค่างวดเป็นอย่างไร

 

“พี่ชื่อยิ้มค่ะ มาจากร้อยเอ็ด ส่วนเพื่อนพี่ชื่อวรรณมาจากปราจีน พี่มาอยู่ที่นี่นานแล้วค่ะ ตั้งแต่ที่เขาเปิดทำบัตรให้ขายของตามหาดเมื่อ 8 ปีที่แล้วโน้น พอดีมีญาติแนะนำมา ก็มากันทั้งบ้านเลยค่ะ ตอนนั้นลูกพี่ไม่กี่ขวบเอง ทุกวันนี้เขาก็เรียนอยู่ในหัวหิน วันหยุดเขาก็มาช่วยพี่ขายของ แฟนพี่ก็ขายเหมือนกัน”

 

สาวใหญ่จากที่ราบสูงแนะนำตัวเองกับเราอย่างเรียบง่าย อาจเป็นเพราะวันๆ หนึ่งเธอต้องเข้าไปทำความรู้จักกับคนมากหน้าหลายตาและมาจากหลายประเทศ เธอจึงไม่มีทีท่าเขินอายเมื่อเราถามถึงที่มาที่ไปของเธอ

 

“รู้เรื่องค่ะรู้เรื่อง เรียนกับฝรั่งเอา แรกๆ มาก็พูดไม่เป็นหรอก แล้วเขาก็ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษนะ บางคนก็รัสเซีย บางคนก็พูดเยอรมัน อาศัยจำจากเขา มันก็ไม่ยาก แต่ช่วงนี้มันโรยอยู่ค่ะ เดือนหน้าเป็นหน้าฝรั่งคงดีขึ้น แต่มันก็แล้วแต่ฟลุกนะ บางวันก็ขายไม่ได้”

 

แม้เธอจะมีความสามารถทางด้านภาษาที่หลากหลาย แต่เมื่อเจรจากับคนไทย ภาษาถิ่นยังคงกังวานอยู่ในสำเนียง

 

“ของก็ไปเอามาจากกรุงเทพฯ ค่ะ อาศัยรวมกันไปเอามาทีละเยอะๆ มันก็เลยไม่แพง ตอนกลางคืนก็ไปขายตามบาร์ในเมือง แต่เสื้อนี่ต้องถอดออกนะ อันนี้เฉพาะลงหาด เข้าเมืองก็ใส่เสื้อธรรมดา ขายของก็พอได้ค่ะถ้าพูดเป็น แล้วก็ต้องขยันด้วย ออกตั้งแต่ 8 โมง เดินทั้งวัน

 

...ฝรั่งบอกเขาชอบหัวหินที่ความสงบค่ะ ฝรั่งเขาว่าอยู่นี่อากาศดี ส่วนใหญ่เขาจะมาช่วงหน้าไฮ มาแล้วก็อยู่หลายเดือน ส่วนมากก็สวีเดนกับนอร์เวย์ ถ้าเยอรมัน รัสเซีย ฝรั่งเศส เมื่อก่อนจะอยู่พัทยา แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมาหัวหินเยอะแล้วนะ แล้วฝรั่งที่มาส่วนใหญ่จะรวย ดีนะ พี่ชอบ จะได้ขายของได้เยอะๆ (หัวเราะ)”

 

 

เตียงผ้าใบตั้งติดชิดทะเลจนคลื่นเกือบซัดถึง ชายหนุ่มในชุดว่ายน้ำพร้อมชูชีพนั่งคุยกับเราอยู่ 2-3 คน บางครั้งพวกเขาก็ลุกขึ้นยืนมองไปยังนักท่องเที่ยวที่เล่นน้ำอยู่ไกลๆ เมื่อเห็นว่าทุกอย่างยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ “พี่จ้อย” จึงค่อยหันมาคุยกับเราหลังจากที่ต่างฝ่ายต่างแนะนำตัวกันก่อนหน้านั้นไม่นาน

 

“คนขับเรือสปีดโบ๊ทอย่างพวกเราเป็นไลฟ์การ์ดกันทุกคนครับ ถ้ามีใครกำลังเสี่ยงอันตราย เช่น ว่ายน้ำออกไปไกลเกิน เราก็จะรีบขับเรือออกไปเตือน หรือถ้าเห็นว่าเขากำลังอยู่ในความเสี่ยง เราก็จะรีบขับเรือออกไปดู คือเราเป็นเครือข่ายของทั้งตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า และเทศบาล ที่จะคอยดูแลนักท่องเที่ยวให้ปลอดภัยอีกทางหนึ่งด้วย”

 

ภายหลังจากคว้าใบปริญญานิเทศศาสตร์จากมหา ลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง พี่จ้อยก็กลับมาลงทุนที่บ้านเกิดด้วยการซื้อเรือสปีดโบ๊ท ซึ่งนอกจากจะเอาไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวแล้ว พี่จ้อยยังเอาเรือเข้าร่วมโครงการเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวที่มาเยือนท้องถิ่นอันเป็นที่รักของเขาด้วย

 

 “หาดนี้เงียบกว่าหาดอื่นๆ ในหัวหินครับ มันดูเป็นส่วนตัวกว่า แม้ความสวยงามจะสู้หาดฝั่งอื่นไม่ค่อยได้ แต่เราอยู่ใกล้เกาะ เราสามารถพานักท่องเที่ยวไปดูเกาะได้ แล้วหาดนี้ก็ไม่มีหินมารบกวนเหมือนหาดอื่นๆ น้ำก็ไม่ลึก มันจะไล่ระดับลงไปเรื่อยๆ ไม่อันตราย ส่วนในเรื่องของความปลอดภัย พวกเราทุกคนพร้อมให้การดูแล”

 

เสียงเรือดับลง คนขับเรืออีกคนเดินมาสมทบ เขาพร่ำบ่นเล็กน้อยถึงเรือประมงที่ลอยลำอยู่ไม่ไกล

 

 

“ค่าบริการของเราอาจจะแพงกว่าพัทยานิดหน่อยครับ คือถ้าเรือเราเสีย ที่นี่ไม่มีอู่ซ่อม เราก็ต้องเอาขึ้นรถไปซ่อมที่พัทยาอย่างเดียว ส่วนเรือประมงที่เห็นอยู่โน้นก็คนบ้านเดียวกันทั้งนั้น คือบางทีเวลาปลาเข้า เขาจะวางอวนใกล้ฝั่งเกินไป เราก็ไปคุยกับเขาได้ ทะเลเป็นสมบัติของส่วนรวม เราอยู่ด้วยกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เรื่องอื่นก็ไม่ค่อยมีปัญหานะ แค่เราต้องคอยระวังไม่ให้ล้ำเข้าไปในเขตพระราชฐาน แต่ก็เป็นเรื่องดีนะ อยู่ใกล้บ้านพ่อเงียบสงบดี”

 

ดวงตะวันอ่อนแสง เสียงเจื้อยแจ้วดังแว่วมาจากริมทะเลอีกด้าน วัยรุ่นหญิงชายกลุ่มใหญ่พากันมาทำกิจกรรม “รับน้อง” ใกล้ๆ กันนั้นเด็กน้อยในชุดว่ายน้ำสีหวานกำลังตักทรายใส่ถัง โดยมีพ่อกับแม่ของเธอนั่งดูอยู่ไม่ห่าง ชายหาดเริ่มคึกคัก มีนักเตะวัยละอ่อนเกือบสิบคนจับกลุ่มกันเล่นฟุตบอล

 

 

 

พี่จ้อยออกไปขับเรือแล้ว เหล่าคาวบอยจูงม้าเดินหานักท่องเที่ยว หลายคนได้ลูกค้า พี่มนัสกับหลานชายกำลังพูดคุยอยู่กับเด็กวัยรุ่น 2 คนที่ริมหาด ไม่นานเจ้าช็อกโกแลตกับเจ้าติอาโก้ก็ได้ทำหน้าที่ของมัน...

 

 

เรือลำเล็กแล่นเข้าเทียบท่าที่ทำจากไม้ไผ่ รถที่เราจอดไว้อยู่ตรงหัวหาดติดกับท่าน้ำที่ชาวประมงกำลังถ่ายเท “แมงกะพรุน” ขึ้นฝั่งพอดี ด้วยพวกเขากำลังทำงานอย่างเร่งรีบ เราจึงไม่มีโอกาสได้ไต่ถามถึงชื่อเสียงเรียงนามของแต่ละคน

 

กลิ่นคาวจากสัตว์น้ำไม่มีกระดูกโชยมาให้รู้สึกเล็กน้อย คนบนเรือสวมถุงมือหนาจับแมงกะพรุนตัวโตใส่ตะกร้า อีก 2 คนบนท่าเทียบใช้ตะขอเกี่ยวหูยกขึ้นมาพักไว้บนฝั่ง สักพักเมื่อน้ำเริ่มไหลออกจากตะกร้าเกือบหมด พวกเขาก็ยกมันขึ้นไปใส่ท้ายรถกระบะที่จอดอยู่ใกล้ๆ

 

“ระวังนะพี่ อย่าไปจับนะ จับแล้วมันจะคันยุบยับเลยล่ะ” ชายคนหนึ่งบอกกับเรา เมื่อเห็นท่าทีว่าเราสนใจกับเจ้าตัวประหลาดที่กองอยู่ในตะกร้า

 

เมื่อเห็นว่างานของพวกเขาเริ่มซา เราจึงเข้าไปสอบถามจนได้ความว่า แมงกะพรุนเหล่านี้เพิ่งถูกกระแสน้ำพัดเข้ามาในอ่าวเมื่อเช้า ชาวเรือประมงพื้นบ้านจึงพากันออกเรือไปจับมาขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อถึงท่าเรือเล็กๆ แห่งนี้

 

“ส่วนใหญ่ส่งขายต่างประเทศ แต่ต้องเอาไปดองก่อนนะพี่ ตอนนี้ยังกินไม่ได้” คนถือตะขอที่เป็นพ่อค้าบอกกับเรา

 

“ทำมาสัก 20 ปีได้แล้วมั้ง ตอนนี้ผมอายุ 31 ก็ทำมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นอาชีพเดิมของครอบครัวผม มันตกทอดมาจากพ่อ เรือนี้ก็ด้วย ที่เห็นเรือจอดอยู่เยอะๆ นั่นนะ มีคนท้องถิ่นดั้งเดิมสัก 20-30 ได้มั้ง ที่เหลือมาจากตราด เอาเรือมาหากินที่นี่ คนตะเกียบจริงๆ สำเนียงจะแปร่งๆ เหมือนผม (หัวเราะ)” หลังงานบนเรือเสร็จสิ้น เจ้าของเรือประมงพื้นบ้านก็ขึ้นมาคุยกับเราในที่สุด

 

“ปูม้านี่ไม่ลดนะ แต่กุ้งก็หายไปพอสมควร คือมันมีเรือคราดหอยที่มาจากแม่กลอง มหาชัยเข้ามาแถวนี้ ผมใช้เรือเล็กออกวันต่อวัน คือขาออกก็ทิ้งอวนไว้ ปล่อยเสร็จสักพักก็สาว ได้เท่าไรก็เข้าฝั่ง จะรอให้มันเต็มลำก่อนก็ได้ พวกแมงกะพรุนนะ แต่อย่างปูเนี่ย เราวางไว้วันนี้ พรุ่งนี้เราก็ไปสาวกลับได้เลย ช่วงนี้จับปูได้เยอะสุด รองลงมาก็เป็นหมึกสายแล้วก็กุ้ง ส่วนแมงกะพรุนนี้น้ำพัดมันเข้ามา

 

...รายได้มันไม่แน่นอนนะ แล้วเราต้องมีเรือมีเครื่องมือด้วย ค่าน้ำมันก็แพงอยู่ ปีที่แล้วเทศบาลเขามีงบมาให้ แล้วบอกให้เราตั้งกลุ่มประมง เขาเอาเงินมาให้กู้ เราก็ทำบิลส่งเขา มันก็ดีขึ้นนะ สมาชิกได้เงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ ผมว่าประมงรายได้ดีกว่าอาชีพอื่นๆ นะ ผมออกเรือคนเดียวก็เลี้ยงครอบครัวได้ ลูกสาว 3 คนก็ส่งเรียนได้จนกว่าเขาจะพอใจ ถือว่าโอเคเลย ถ้าขยันแล้วก็มีเครื่องมือพร้อมนะ ยิ่งช่วงไหนปูเข้า เราก็รีบลงไปจับปู ปลาเข้า เราก็ไปจับปลา พวกปลาทู ปลาทราย นี่โลละ 130 เชียว”

 

เสียงเครื่องยนต์ของเรืออีกลำดังสนั่นเมื่อเข้ามาใกล้ท่าเทียบ ชาวเรือบ้านตะเกียบขอตัวออกไปทำงานอีกครั้ง

 

“ถ้าเขาช่วยทิ้งปะการังเยอะๆ จะดีมากเลยนะ คือเขาก็ทิ้งไว้แล้วส่วนหนึ่ง แต่มันอยู่ไกล พอถึงหน้าลมว่าว เรือคราดหอยจะมา หอยลายบ้านผมมีแต่ตัวใหญ่ๆ เขามาลาก 1-2 ทีก็คุ้มแล้ว แต่ถ้าเราเอาอวนไปปล่อยไว้ บางทีอวนก็หาย ผมว่าเขาวางไว้ลึกเกินไป ถ้าขยับมาใกล้อีกนิดจะช่วยประมงพื้นบ้านอย่างพวกผมได้เยอะ

 

 

...ผมอยากให้คนมาเที่ยวหัวหินเยอะๆ ผมว่าคนหัวหินยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนอยู่แล้ว ส่วนพวกผมเวลาจับปูจับปลาได้ก็เอาไปขายให้ร้านอาหารในตะเกียบ จับแค่ตรงนี้แล้วก็เอาไปส่งตามร้าน ออกไป 2-3 ชั่วโมง ก็กลับแล้ว เห็นไหม คนมาเที่ยวหัวหินได้กินของทะเลสดจริงๆ”

 

 

 

Hi. I’m Mashella from Holland. I’ve come to Hua Hin many times. This time is my 14 th.  I feel very good while I’ve been here. This time I will stay here for 6 months. I love the beach because every time I come to the beach, it’s always clean and we can walk anytime everyday. I love the beach and people here so I plan to come back here for sure.


ที่มา: นิตยสารผู้นำท้องถิ่น ฉบับที่ 153 พฤศจิกายน 2556

โพสต์โดย : ครองแครง