Social :



@วัดพระนางสร้าง ภูเก็ต

14 ก.พ. 61 14:02
@วัดพระนางสร้าง ภูเก็ต

@วัดพระนางสร้าง ภูเก็ต

วัดพระนางสร้าง

     สถานที่ตั้ง อยู่ห่างจากตัวเมือง 20 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางถนนเทพกษัตรี ถึงสี่แยกอำเภอถลาง ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายเป็นวัดที่เก่าแก่ และเป็นแหล่งประวัติศาสตร์เมืองถลางที่สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะเคยเป็นค่ายสู้รบกับพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2328 นอกจากนี้ภายในอุโบสถเก่ายังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดีบุกที่เก่าแก่ 3 องค์ เรียกว่า "พระในพุง" หรือ "พระสามกษัตริย์" ซึ่งอยู่ในพระอุทรของพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่อีกชั้นหนึ่ง

     ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ททท. สำนักงานภูเก็ต 0 7621 1036 , 0 7621 2213
http://www.tourismthailand.org/phuket

วัดพระนางสร้าง

     วัดพระนางสร้าง เลี้ยวรถเข้ามาในซุ้มประตูแรกซึ่งอยู่ด้านซ้ายมือ (เดินทางจากตัวเมืองภูเก็ตวัดพระนางสร้างจะอยู่ซ้ายมือ หรือหากเดินทางเข้าภูเก็ตต้องไปกลับรถแล้วเข้าซุ้มประตูแรกเหมือนกัน) ซุ้มประตูวัดพระนางสร้างเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของวัดที่สะดุดตาผู้ผ่านไปมา ซุ้มประตูแบบเดียวกันนี้มี 2 ด้าน กำหนดให้เป็นทางเข้าและทางออก ภายในวัดกำหนดให้เดินรถทางเดียวตลอด

อุโบสถวัดพระนางสร้าง

     อุโบสถวัดพระนางสร้าง ตามตำนานเชื่อกันว่าพระนางเลือดขาวเป็นผู้สร้างวัด พระนางเลือดขาวเป็นมเหสีของผู้ครองนครแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับมหาดเล็ก จึงถูกลงโทษประหารชีวิต พระนางซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์จึงวิงวอนขอเดินทางไปนมัสการพระบรมธาตุที่ลังกาก่อน เนื่องด้วยพระนางเป็นผู้ที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ หลังจากเดินทางกลับได้แวะพักบริเวณเกาะถลางและสร้างวัดเป็นที่ระลึก พร้อมทั้งปลูกไม้ประดู่ ไม้ตะเคียน และฝังโบราณวัตถุ ของมีค่าไว้บริเวณวัดด้วย เมื่อเดินทางกลับถึงพระนคร พระนางจึงถูกประหารชีวิต ด้วยผลบุญและความบริสุทธิ์เลือดที่หลั่งออกมากลายเป็นสีขาว และกลายเป็นชื่อเรียกขาน "พระนางเลือดขาว" และเป็นสาเหตุที่ได้ชื่อว่าวัดพระนางสร้าง ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2328 เกิดสงครามกลางเมืองถลาง ทหารไทยได้ใช้วัดพระนางสร้างเป็นค่ายสู้รบกับพม่า นอกจากนี้อุโบสถของวัดยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่หล่อด้วยดีบุกและเป็นพระพุทธรูปดีบุกที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปดีบุกอีก 3 องค์ เรียกว่าพระในพุง หรือพระสามกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในพระอุทรของพระพุทธรูปองค์ใหญ่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่า 1000 ปี

      ผมประทับใจความสวยงามของอุโบสถและพระระเบียงคตของวัดมากทั้งๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ในวัดพระนางสร้างสามารถจอดรถด้านข้างอุโบสถได้เลยแล้วก้เดินชมรอบๆ บริเวณวัดมุมพระระเบียงคต ทั้งสี่มุมสร้างพญานาคห้าเศียรมีสัตว์ในวรรณคดีหลายชนิดในบริเวณวัด

วัดพระนางสร้าง

      วัดพระนางสร้าง ที่พระอุโบสถด้านหน้า ทางเข้าอุโบสถวัดพระนางสร้างมีช่องประตู 2 ช่อง มีภาพเขียนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์สวยงาม

พระประธานอุโบสถวัดพระนางสร้าง

      พระประธานอุโบสถวัดพระนางสร้าง ประดิษฐานบนฐานชุกชีสูง มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเบื้องหลังองค์พระเป็นรูปต้นพระศรีมหาโพธิ์ กับลำธาร มองดูคล้ายพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ โดยมีพระอัครสาวกเบื้องซ้ายและขวา นอกเหนือจากนั้นภายในพระอุโบสถเป็นภาพวิถีชีวิต และประวัติศาสตร์สำคัญของภูเก็ตและเมืองไทย มีภาพอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทร เหตุการณ์กู้เอกราช เป็นต้น

ภาพสวยๆ จากวัดพระนางสร้าง

      ภาพสวยๆ จากวัดพระนางสร้าง เริ่มจากด้านหน้านอกระเบียงคด มีสัตว์หิมพานต์ในวรรณคดีที่สร้างอย่างสวยงามใช้สีทองที่ข้างประตูทั้ง 2 ข้างและที่มุมของระเบียงคด เหนือระเบียงคดเป็นกลีบบัวคว่ำ บัวหงาย รอบด้านอย่างสวยงาม โดยมีพญานาค 5 เศียรเลื้อยอยู่บนกลีบบัว

      ประตูเข้าระเบียงคดด้านหน้ามีพระพุทธรูปบิณฑบาตร เหนือซุ้มประตูมีหน้าบันที่สวยงามรูปช้างสามเศียร

      รอบพระอุโบสถมีลานประทักษิน ภายในระเบียงคด เสาของระเบียงคดแต่ละต้นสร้างเป็นมังกรพันเสา เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างแบบไทยและแบบจีนอย่างลงตัว

ผนังด้านนอกพระอุโบสถใช้ลวดลายลงสีชมพู ทำให้อุโบสถดูสว่างท่ามกลางแสงแดด

สิ่งที่น่าสนใจในวัดพระนางสร้าง

      สิ่งที่น่าสนใจในวัดพระนางสร้าง ออกจากพระอุโบสถหลังใหม่ที่สวยงามแล้วเดินตามทางเดินเล็กๆ ข้างพระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิดอยู่ในซุ้มเล็กให้ประชาชนกราบไหว้เป็นสิริมงคล เดินตรงไปจะเป็นหอระฆังถัดจากนั้นจะเห็นเจดีย์ที่กำลังก่อสร้าง เป็นอนุสาวรีย์บูรพาจารย์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 และพระครูปลัด องค์การบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2538 และมีการก่อสร้างใหม่อีกครั้งในปัจจุบัน (พ.ศ.2553) ยังสร้างไม่เสร็จ

      ภาพบนขวา เป็นภาพภายในอนุสาวรีย์บูรพาจารย์ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลองที่งดงาม รายล้อมด้วยรูปพระบูรพาจารย์วัดพระนางสร้าง และพระบูรพาจารย์ที่สำคัญๆ ของไทยอีกหลายรูป

Lif
      ภาพล่างซ้าย เป็นศาลาธรรมสภาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา อยู่ติดกับอนุสาวรีย์บูรพาจารย์ มีลักษณะเป็นอาคารที่กว้างมากด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ขนาดต่างๆ หลายรูปด้วยกัน

      ภาพล่างขวา อยู่ตรงข้ามกับศาลาธรรมสภาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เป็นที่เก็บรักษาสังขารพระครูสุนทรสมณกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระนางสร้าง นามเดิมชื่อเซี้ยง นามสกุล สหพล เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ เมื่ออายุได้ ๑๓ ปีได้เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) อายุ ๑๖ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรศึกษาเล่าเรียนพระธรรมและอุปสมบทและจำพรรษาที่วัดฉลอง เป็นเวลา ๖ พรรษาก็ได้รับแต่ตั้งเป็นพระใบฎีกาฐานานุกรมของพระครูกิจจานุการ ซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ตในสมัยนั้น ท่านได้รับการแต่ตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระนางสร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๑ ท่านประกอบกิจของสงฆ์เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนมาโดยตลอด และมหาเถรสมาคมมีมติให้เลื่อนเป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตอำเภอถลาง และเลื่อนตำแหน่งเป็นพระครูเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ท่านมรณภาพลงในปี พ.ศ.๒๕๓๓ รวมอายุได้ ๘๔ ปี พรรษา ๖๔

เหนือห้องสังขารพระครูสุนทรสมณกิจ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพานขนาดใหญ่

พระพุทธรูปในพระพุทธประวัติ

      พระพุทธรูปในพระพุทธประวัติ ในบริเวณวัดมีพระพุทธรูปปางต่างๆ อยู่หลายแห่ง แสดงเรื่องราวในพระพุทธประวัติอันได้แก่ ปางปรินิพพาน ปางประสูติ ปางตรัสรู้ เป็นต้น

พระพุทธรูปในวัดพระนางสร้าง

พระพุทธรูปในวัดพระนางสร้าง

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ

      สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ หอระฆังด้านหน้าอนุสาวรีย์บูรพาจารย์ ส่วนภาพขวามือเป็นเจดีย์เก่าแก่องค์หนึ่งภายในวัด (อยู่บริเวณทางเดินด้านข้างพระอุโบสถ ซึ่งตอนนี้ผมกำลังจะเดินย้อนกลับมาด้านหน้าเพื่อไปสถานที่อื่นๆ ต่อ)

วิหารหลวงพ่อพุทธบารมีศรีถลาง

      วิหารหลวงพ่อพุทธบารมีศรีถลาง อยู่ด้านข้างอุโบสถ เป็นวิหารขนาดเล็กสีขาวรูปแบบการสร้างดูคล้ายแบบจีน รอบๆ มีฐานคล้ายฐานใบเสมาล้อมรอบชั้นนอกด้วยกำแพงแก้วไม่สูงนัก วิหารหลังนี้เป็นอุโบสถเก่าของวัดจากนั้นได้มีการสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่จึงกลายเป็นวิหาร

หลวงพ่อพุทธบารมีศรีถลาง

      หลวงพ่อพุทธบารมีศรีถลาง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์ประจำวัดพระนางสร้าง และพระพุทธรูปอีก 2 องค์ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถหลังเก่า เปิดให้ประชาชนได้เดินทางมาสักการะทุกวัน

พระสามกษัตริย์

      พระสามกษัตริย์ พระพุทธรูปในตำนานที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับวัดพระนางสร้าง ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงส่วนพระเศียร เก็บรักษาไว้ในตู้กระจกใสมีกรอบสี่เหลี่ยมห้ามปิดทองเพื่อให้มองเห็นพระเศียรด้านใน

เจ้าแม่กวนอิม

      เจ้าแม่กวนอิม ประดิษฐานอยู่ช่องประตูกลางของกำแพงวัดซึ่งไม่ให้รถเข้า-ออกช่องประตูนี้ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือเจ้าแม่กวนอิมนี้ประดิษฐานบนฐานดอกบัวกลางสระน้ำที่ล้อมรอบด้วยมังกร รอบๆ บริเวณนี้ปกคลุมด้วยต้นไม้สูงใหญ่ร่มรื่นมาก

ภาพสวยพระอุโบสถวัดพระนางสร้าง

      ภาพสวยพระอุโบสถวัดพระนางสร้าง มีภาพสวยๆ มาฝากกันอีกมุมหนึ่งครับ ด้วยความประทับใจเลยเดินเก็บภาพรอบพระอุโบสถหลังนี้แบบทุกมุมเลยทีเดียว

ศิลปะผสมผสานในวัดพระนางสร้าง

      ศิลปะผสมผสานในวัดพระนางสร้าง การสร้างสัตว์หิมพานต์ตามวรรณคดีไทยมีให้เห็นอยู่หลายจุด แต่ก็ยังมีการสร้างตามศิลปะแบบจีนด้วยมังกร และโคมไฟ ผสมผสานกันในวัดพระนางสร้างอย่างลงตัว

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ

      สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ภาพพระเจดีย์ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างจากด้านหลังของวัด และพญายมราช 

ขอบคุณข้อมูลจาก

touronthai.com



โพสต์โดย : ต้นน้ำ