Social :



@ถ้ำภูผาเพชร สตูล

15 ก.พ. 61 11:02
@ถ้ำภูผาเพชร สตูล

@ถ้ำภูผาเพชร สตูล

ถ้ำภูผาเพชร


     สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 บ้านป่าพน ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง เป็นถ้ำขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มึความสวยงาม เพดานถ้ำสูงโปร่ง ภายในถ้ำมีลักษณะแปลกตาและอัศจรรย์ เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย เปล่งประกายระยิบระยับคล้ายเกล็ดเพชร และมีการค้นพบหลักฐานร่องรอยประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย กระดูกมนุษย์ส่วนกะโหลกศีรษะ เศษภาชนะดินเผาเคลือบลายเชือกทาบ และกระดูกสัตว์ เปลือกหอยบรรจุในภาชนะดินเผา สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ ซึ่งมนุษย์สมัยก่อนใช้ประกอบพิธีทางศาสนา เมือประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว

    เส้นทางการเดินทางไปถ้ำภูผาเพชร ถ้ำภูผาเพชร ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอมะนัง 27 กิโลเมตร ไปตามถนนลาดยางตลอดสาย (ทางเดียวกับถ้ำเจ็ดคต มีทางแยกขวามือ) มีป้ายบอกตลอดทางจนถึงบริเวณถ้ำตั้งอยู่บนเทือกเขาหินปูน ในเขตของทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งนิยมเรียกว่า เขาบรรทัด ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก ทางขึ้นไม่ค่อยลาดชันนัก ความสูงจากพื้นราบถึงปากถ้ำประมาณ 50 เมตร มีบันไดประมาณ 300 ขั้น มีศาลาพัก 2 จุด ใช้เวลาในการเดินทางจากพื้นราบถึงจุดเข้าถ้ำราว 30 นาที

    ชื่อเดิมของถ้ำภูผาเพชร คือ “ถ้ำลอด ถ้ำยาว หรือถ้ำเพชร” เนื่องจากถ้ำมีความยาว ลักษณะคดเคี้ยว แบ่งเป็นหลายตอน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย เมื่อกระทบกับแสงไฟ ผนังถ้ำมีประกายแวววาวเหมือนเพชร จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำเพชรก่อน ภายหลังชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า ถ้ำภูผาเพชร ตามประวัติมีว่า เมื่อปี พ.ศ. 2517 ครอบครัวของนายช่วงและนางแดง รักทองจันทร์ ได้ย้ายเข้ามาอาศัยบริเวณถ้ำยาวเป็นครอบครัวแรก ล่วงมาปีพ.ศ. 2535 มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาตั้งสำนักบริเวณถ้ำยาว อยู่ได้หนึ่งปีก็จากไป ก่อนจากไปท่านได้บอกชาวบ้านว่าได้เห็นทางเข้าไปในถ้ำยาว มีถ้ำน้อยใหญ่อีกหลายถ้ำ บางถ้ำมีพื้นที่กว้างขวางสวยงาม กระทั่งปี พ.ศ.2540 นายศักดิ์ชัย บุญคง สมาชิก อบต. ตำบลปาล์มพัฒนาได้ทำการสำรวจร่วมกับทางราชการและราษฏรถ้ำภูผาเพชรจึงได้เปิดโฉมหน้าให้คนทั่วไปได้รู้จักกันทุกวันนี้

    ปี พ.ศ. 2541 นักโบราณคดีของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 10 จังหวัดสงขลา ได้สำรวจบริเวณถ้ำภูผาเพชร โดยความร่วมมือของสภาตำบลปาล์มพัฒนา พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี ประกอบด้วยกระดูกมนุษย์ยุคโบราณ พบเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบร่องรอยส่วนก้นภาชนะดินเผา ถูกหินปูนและเปลือกหอยยึดเกาะอยู่ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า บริเวณถ้ำภูผาเพชรเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว

    ถ้ำภูผาเพชรมีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ หรือ 20,000 ตารางวา แบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อยประมาณ 20 ห้อง ชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น ห้องปะการัง มีหินงอกหินย้อยคล้ายปะการังในทะเล ห้องเห็ด เต็มไปด้วยรูปดอกเห็ดขนาดต่าง ๆ ห้องม่านเพชร ลักษณะคล้ายผ้าม่านแขวนเป็นหลืบซ้อนกัน ห้องพญานาคเห็นหินงอกต่อตัวกันคล้ายงูใหญ่หรือพญานาค ส่วนห้องสวนมรกตจะมีสีเขียว ส่องแสงระยิบระยับคล้ายสีของมรกต ห้องอ่างน้ำ เป็นต้น

    เวลาเข้าชมถ้ำภูผาเพชร เปิดให้เข้าชมในเวลา 8.30 น. - 16.00 น. โดยต้องมีเจ้าหน้าที่ไปด้วยทุกกลุ่ม ภายในถ้ำมีไฟฟ้าส่องสว่าง แต่ควรมีไฟฉายไปด้วย ที่ปากถ้ำมีไฟฉายสำหรับให้เช่า แต่ในวันหยุดนักขัตฤกษ์นักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันมากไฟฉายอาจจะไม่เพียงพอ

     ข้อมูลเพิ่มเติม: Tel. +66 7521 5867, +66 7521 1058

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

ถ้ำภูผาเพชร

     บรรยากาศรอบทางเข้าถ้ำมีมุมที่จัดไว้ให้สำหรับการถ่ายรูปอยู่หลายมุมเหมือนกัน การมาเยือนถ้ำภูผาเพชรของพวกเรานับว่าเป็นช่วงท้ายๆ ของเวลาที่เราวางแผนไว้ในการเที่ยวจังหวัดสตูล ต่อจากที่นี่ก็เหลือแค่ไปแหลมตันหยงโป หลังจากตระเวนเที่ยวมาแล้วหลายที่ เราไม่ได้วางแผนอะไรมากนักจัดตามความเหมาะสมของสภาพอากาศมากกว่า แดดไม่มีสำหรับการถ่ายรูวิวสวยๆ เป็นตัวบอกให้เรารู้ว่า ไม่มีที่ไหนจะเหมาะเท่ากับเข้าไปถ่ายรูปในถ้ำ

      ลานจอดรถที่นี่กว้างมาก นักท่องเที่ยวมากันไม่ขาด แทบจะหาที่จอดไม่ได้ในช่วงเทศกาล ก็แน่ละ เพราะถ้ำภูผาเพชรเป็นถ้ำขนาดใหญ่ติดอันดับโลก คนที่ชอบถ้ำถ้าไม่เคยมาที่นี่ก็คงต้องหาเวลามาให้ได้ หลังจากหาที่จอดได้แล้วก็มุ่งหน้าเข้ามาหาร้านค้าเพราะเป็นเวลาเที่ยง อย่างน้อยต้องมีอะไรรองท้องเพราะการเดินถ้ำใหญ่ๆ จะต้องใช้เวลานานเป็นพิเศษ เราว่ามาถ้ำระดับโลกทั้งทีต้องจัดหนัก ถ่ายรูปเยอะๆ เข้าไว้

เดินขึ้นถ้ำภูผาเพชร

      เดินขึ้นถ้ำภูผาเพชร หลังจากที่กินอะไรรองท้องนิดหน่อยแล้ว เราก็อาจจะต้องมีน้ำติดตัวไปด้วยสักขวด ตอนนี้ก็เดินไปตามทางป้ายบอก ก่อนที่จะถึงบันไดขึ้นถ้ำจะมีซุ้มเจ้าหน้าที่อยู่ 1 ซุ้ม เป็นสถานที่สำหรับเช่าไฟฉาย อันละ 20 บาท จ่ายค่าเข้าชมคนละ 30 บาท พอดีว่าเพิ่งซื้อไฟฉายมาจากร้านเกษตรในตัวเมืองมะนัง ไฟฉายก็เลยไม่ต้องเช่า แต่อย่างที่บอกละว่าอย่าคิดมาพึ่งพาไฟฉายที่นี่เพียงอย่างเดียวบางทีคนมาเยอะเดี๋ยวมันจะมีไม่พอ จากนั้นเป็นทางเดินตรงเข้าไปในป่าไม่กี่เมตรก็จะเห็นบันได จำได้ว่ามีประมาณ 300 กว่าขั้น จำนวนที่แน่นอนนั้นจำไม่ได้ ระดับความสูงจากพื้นที่เชิงเขา 50 เมตร แต่เพราะต้องขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ จึงทำให้รู้สึกว่ามันสูงกว่านั้นเยอะ เดินไปแค่ 50 ขั้น ขามันก็จะเริ่มตึงๆ มีศาลาให้พักพอดี นั่งพักหอบแรงๆ ให้หายเหนื่อยจนเพื่อนมาแซวว่า ทำเป็นคนไม่เคยเดินป่าเดินเขาไปได้ ที่จริงมันก็เป็นอย่างนี้ทุกๆ ครั้งที่ไปเดินป่า ร่างกายมันจะหอบตั้งแต่ช่วงแรกๆ ห้ามกันไม่ได้ แต่ก็เดินถึงยอดดอยทุกทีไป

      สำหรับถ้ำภูผาเพชร พอเราเดินมาถึงปากถ้ำ พิชิตบันได 300 ขั้นได้แล้วว่างั้นเหอะ เราก็จะเห็นว่ามีดอกไม้มาแขวนอยู่หลายพวง ชาวบ้านที่นี่เชื่อกันว่าเป็นที่ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ เจ้าหน้าที่หลายคนนั่งรออยู่ปากถ้ำ ก็คือชาวบ้านที่มาเป็นไกด์พาเราเที่ยวถ้ำภูผาเพชรนั่นแหละ การเดินเข้าไปนั้นควรจะมีไกด์ไปด้วยอย่างน้อยกลุ่มละ 1 คน นอกจากจะเป็นผู้ให้ความรู้และพาเราเดินชมถ้ำได้แบบไม่ต้องวกไปวนมาแล้ว ไกด์จะมีวิทยุไปด้วย 1 เครื่อง เพื่อที่จะคุยกับคนที่อยู่นอกถ้ำ หากไม่มีนักท่องเที่ยวอยู่ในถ้ำก็จะทำการปิดไฟตามทางเดินในถ้ำ ถ้าเราเดินไปกันเองคนนอกถ้ำคิดว่าไม่มีใครอยู่แล้วปิดไฟ บอกได้เลยครับว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้ำที่นี่กว้างใหญ่ไพศาลมาก ทางเดินมีทางแยกออกไปยาวเหยียด ถ้าให้เดินเองกว่าจะพบทางออกคงไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง นี่แหละถ้ำที่ใหญ่อันดับ 4 ของโลก อย่าไปคิดว่าเดินถ้ำมาเยอะแล้วไม่ง้อไกด์หาทางออกเองก็ได้ ความคิดนี้ใช้กับถ้ำแห่งนี้ไม่ได้ครับ

ภายในถ้ำภูผาเพชร

      ภายในถ้ำภูผาเพชร เอาละเราได้ไกด์มา 1 คน พร้อมที่จะออกเดินทางกันแล้ว อย่างที่บอกละว่ามันมีทางเดินแยกซ้ายแยกขวา และเป็นทางเดินที่สร้างแบบสะพานไม้ที่ยาวมาก จากข้อมูลจะบอกว่ามีห้องแบ่งในถ้ำนี้ประมาณไม่ต่ำกว่า 20 ห้อง ตัวเลขนี้มันดูเหมือนไม่มาก แต่ถ้าลองนึกดูว่าแต่ละห้องใหญ่เหมือนในภาพนี้ละ มันจะใหญ่แค่ไหน ไม่ต่างอะไรกับการเดินเข้าห้องโถงของพระที่นั่งอนันตสมาคมเลยละ แล้วมีเกิน 20 ห้องด้วย อย่างจุดแรกที่เราเพิ่งจะเดินลอดปากถ้ำที่ทั้งเล็กทั้งแคบเข้ามา มีทางแยกซ้ายกับขวา ทางขวาเป็นทางเดินออกมาจากด้านในถ้ำ ส่วนด้านซ้ายที่เห็นบันไดลงไปด้านล่างเป็นทางเข้า เรียกว่าจัดทางเดินชมถ้ำแบบทางเดียวไม่สวนกันไปสวนกันมา

      โถงที่กว้างใหญ่โถงแรกของถ้ำภูผาเพชร เป็นโถงกว้างๆ โล่งๆ มองเห็นเสาหินคู่สูงยันเพดานถ้ำเอาไว้ น่าจะสูงสัก 40 เมตร เห็นจะได้

ถ้ำภูผาเพชร

      เมื่อเดินลงมาตามบันไดเรื่อยๆ ตอนนี้เรามาอยู่บริเวณโคนเสาหินคู่ ตรงป้ายจะเขียนชื่อบอกเอาไว้ เสาหินขนาดที่หลายคนช่วยกันโอบถึงจะรอบนี้ชื่อว่า เสาค่ำสุริยัน เป็นไงครับแค่ชื่อก็อลังการแล้ว แต่ก็ใหญ่สมชื่อจริงๆ รู้สึกว่าจะไม่เคยเห็นเสาหินงอกหินย้อยที่มีเส้นรอบวงเสาใหญ่เท่านี้มาก่อนเลย ส่วนรอบๆ เสาหินก็มีหินงอกหินย้อยจำนวนมหาศาล ให้เราได้จินตนาการรูปร่างไปต่างๆ นานา ส่วนไหนของถ้ำภูผาเพชรที่ไม่สำคัญก็ไม่มีการตั้งชื่อให้ สำหรับคนที่ชอบเที่ยวถ้ำ ก็คงจะต้องสังเกตุเอาว่าบริเวณไหนที่มีหินงอกหินย้อยสวยๆ ก็เลือกถ่ายรูปเอามา แต่การเที่ยวถ้ำเพื่อถ่ายรูปอย่าลืมเอาขาตั้งไปด้วยเด็ดขาด เพราะแฟลชไม่ทำให้อะไรดีขึ้น บางทียังทำให้แย่ลงด้วยสิ

ด้านหลังเสาค้ำสุริยัน

      ด้านหลังเสาค้ำสุริยัน หลังจากที่มาอยู่ตรงเสาค้ำสุริยัน ตอนนี้เรามองไปรอบๆ โถงอันกว้างใหญ่ในถ้ำภูผาเพชร อาจจะพูดได้ว่าเสาค้ำสุริยันเป็นห้องแรกของห้องทั้งหมดในถ้ำแห่งนี้ แต่เสาหินมหึมาก็ไม่ได้ดึงดูดความสนใจของเรามากเท่าไหร่หากเทียบกับเสาหินยาวๆ แต่เล็กๆ ที่เห็นอยู่ในรูปนี้ กลุ่มเสาหินเล็กๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างยากลำบากกว่าเสาหินต้นใหญ่ เพราะเสี่ยงต่อการหักก่อนที่จะยาวถึงเพดาน ที่จริงแล้วเสาหินทั้งหมดในรูปนี้เป็นหินงอกหินย้อยที่ตั้งตรง แต่เพราะความกว้างของห้องโถงนี้เลยเอาเลนส์มุมกว้างหรือเลนส์ไวด์ออกมาใช้ ก็เลยทำให้เสาหินมันดูเอียงๆ ไป

หินหัวช้าง ถ้ำภูผาเพชร

      หินหัวช้าง ถ้ำภูผาเพชร ด้านตรงข้ามของเสาหินค้ำสุริยันที่มีสะพานทางเดินทอดผ่านระหว่างกลางเป็นพังผืดหินย้อย หินย้อยที่เกิดเป็นกระจุกติดกันไปหมดแบบนี้พบเห็นได้บ่อยภายในถ้ำหลายแห่ง ปกติมักจะเกิดเป็นรูปร่างคล้ายๆ กับหัวช้าง จนบางทีก็มี 3 หัว ติดกัน ก็ดูคล้ายกับช้างเอราวัณไปเลยก็มี อย่างในกลุ่มนี้ก็ดูเหมือนจะมีส่วนที่เหมือนหัวช้างเอามากๆ อยู่ 1 จุด

แจกันหิน

      แจกันหิน เป็นหินงอกที่กำลังจะเติบโตไปเป็นเสาหิน แต่ดูเหมือนว่าหินงอกจุดนี้จะตายเสียแล้ว (ไม่เติบโตต่อไปได้อีก อาจจะเกิดจากทางน้ำเหนือเพดานถ้ำไปเปลี่ยนทางไปแล้ว) ส่วนที่เกิดเป็นหินงอกขึ้นมาจากพื้นสูงประมาณศอก มีรูปร่างเหมือนกับแจกันหรือน้ำพุเล็กๆ อยู่ใกล้ๆ กับเสาหินค้ำสุริยัน จะว่าไปแล้วเฉพาะคูหาหรือห้องแรกของถ้ำภูผาเพชรก็มีอะไรให้เราได้ชมไปเรื่อยๆ ได้นานเหมือนกันครับ มัวแต่ถ่ายรูปซ้ายทีขวาทีกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่มาทีหลังก็เดินมาถึงจุดที่เรายืนอยู่ คนเดินบนสะพานไม้จนสั่นไปทั่ว ขาตั้งกล้องก็สั่นไปด้วย ก็เลยต้องรอให้คนเดินผ่านไปให้หมด กว่าจะถ่ายรูปต่อไปได้ ถ้ำนี้มีความสวยงามหลายจุดแต่ก็น่าเสียดายที่คนเดินบนสะพานเดียวกัน ก็เลยต้องใช้เวลานานมากกว่าจะถ่ายเสร็จแต่ละที่ แต่เวลาในการเข้าชมถ้ำของเราก็มีจำกัด ก็ขอเอารูปเท่าที่เก็บได้มาให้ชมพอสังเขป แต่เชื่อเถอะว่าได้ไม่ถึงครึ่งของทั้งหมดที่มีอยู่ในถ้ำภูผาเพชรเลย

ถ้ำภูผาเพชร

    ต่อจากเสาค้ำสุริยัน ยังมีอะไรต่อมิอะไรมากมายในห้องติดกัน เสาหินงอกหินย้อยสวยๆ มีให้ชมไปอีกเรื่อยๆ กว่าจะเดินพ้นห้องนี้ไปได้ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร โถงถ้ำที่กว้างใหญ่จนเกือบมองไม่เห็นผนังถ้ำที่อยู่ตรงข้ามกับเราที่ซ่อนอยู่ในความมืด ยังคงซ่อนความสวยงามของหินเอาไว้มากมายครับภาพที่เก็บมาได้เฉพาะกลุ่มหินงอกหินย้อยที่อยู่ใกล้ๆ กับทางเดินเท่าที่แสงสว่างของไฟจะไปถึงเท่านั้น

ม่านเพชร

     ม่านเพชร ก่อนที่เราจะเดินตรงไปตามทางเดินลึกเข้าภายในถ้ำที่ไม่รู้ว่าจะไปจบตรงไหน ที่ใกล้ๆ กับเสาค้ำสุริยันก็มีทางแยกเป็นสะพานไม้และบันไดทอดต่ำลงเบื้องล่าง ที่นี่มีห้องๆ หนึ่งกว้างพอสมควร รอบๆ ก็มีหินงอกหินย้อยหลายกลุ่ม แต่ที่น่าสนใจก็คือกลุ่มที่อยู่ซ้ายมือ เป็นหินย้อยที่มีความสูงเท่าๆ กับตัวเราพอดีเลย มีไม้กั้นเอาไว้โดยรอบเป็นเครื่องหมายว่าให้เราชมห่างๆ แล้วก็ยังมีป้ายเล็กๆ อีกป้ายเขียนกำชับไว้ว่าห้ามจับ หินตรงนี้เรียกว่าม่านเพชร เป็นหินย้อยที่เป็นหินเป็น ยังคงมีน้ำหยดลงมาที่หิน น้ำเหล่านี้จะกัดกร่อนเอาธาตุบางชนิดมาตกตะกอนรวมกันขึ้น ลักษณะพิเศษของหินเป็นก็คือ มักจะมีประกายระยิบระยับบนหินเหมือนกับเพชรที่โดนแสงไฟ และก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ประกายระยินระยับจนคนที่ได้เห็นพยายามจะถ่ายรูปเอามาให้ได้แต่มันก็ไม่ง่ายนักเหมือนกับการพยายามถ่ายรูปหิ่งห้อยในยามกลางคืน ถ้ารูปนี้ไม่ถูกย่อลงให้เล็กเพื่อแสดงบนหน้าเว็บก็พอจะเห็นประกายพวกนั้นอยู่บ้าง ความสวยงามนี้เองจึงเป็นที่มาของชื่อ ม่านเพชร

Lif

ประตูสวรรค์แห่งถ้ำภูผาเพชร

     ประตูสวรรค์แห่งถ้ำภูผาเพชร เดินถ้ำมาก็มากมายหลายแห่ง แต่ลักษณะการเกิดหินงอกหินย้อยแบบนี้ไม่ได้พบเห็นมาก่อน และดูลักษณะรูปร่างแล้วไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเกิดตามธรรมชาติ แผ่นหินที่ไม่ได้หนามากนักมีช่องให้ลอดด้านล่างได้แต่ไม่สูงเท่าไหร่ เดินลอดมาต้องก้มพอสมควรทีเดียว เนื่องจากว่าตอนที่หินมันเกิดขึ้นมาเราไม่ได้ไปดูมัน แต่เท่าที่เห็นนี้เดาได้ว่ามันคงจะเป็นหินงอกที่กำลังจะสูงขึ้นแล้วเกิดหักพังลงมาซะก่อน จากนั้นหินงอกชุดใหม่ที่เกิดขึ้นมาในตอนหลังก็ทับถมมันขึ้นจนมองไม่เห็นร่องรอยของการหัก

ฟองล้นผนังถ้ำ

     ฟองล้นผนังถ้ำ เดินต่อมาอีกหน่อย ก็มองไปรอบๆ อย่างที่บอกละครับว่าบางอย่างแสงไฟมันส่องไปถึง บางอย่างก็ยังคงหลบซ่อนไม่ให้เราเห็นอยู่ในมุมมืดไกลๆ ผนังถ้ำด้านซ้ายมือมีอย่างหนึ่งสะดุดตามากก็คือหินย้อยที่ย้อยลงมาจากผนังที่มีลักษณะเป็นชั้นพักอยู่สูงทีเดียว มองไกลๆ เหมือนกับฟองที่ล้นออกมาจากปากแก้วเวลารินน้ำอัดลม

ห้องหัวแหวนเพชร

     ห้องหัวแหวนเพชร เป็นห้องลำดับที่เท่าไหร่ก็ไม่แน่ใจ หลังจากที่เราใช้เวลาชมห้องเสาค้ำสุริยันอยู่นานเกือบครึ่งชั่วโมง เรารู้ดีกว่าถ้ำภูผาเพชรยังคงมีอะไรๆ อีกมากเหลือเกินที่เราต้องไปดูให้ได้ เราก็เลยทำให้เวลาให้กระชับมากขึ้น เลือกถ่ายรูปเฉพาะสิ่งที่ดูแล้วน่าสนใจเท่านั้น เราจำใจที่จะต้องเดินผ่านอะไรมากมายหลายอย่างไปโดยไม่ได้ถ่ายรูปเอาไว้ ส่วนตรงนี้เห็นแล้วน่าสนใจก็เลยหยุดเดินแล้วกางขาตั้งออก เก็บภาพเอามาให้ชมกัน หินซ้ายมือที่เห็นเป็นโขดสูงขึ้นมาเรียกว่า ห้องหัวแหวนเพชร ส่วนทางซ้ายมือเรียกว่าห้องเห็ด ส่วนห้องเห็ดนั้นมันแลดูเหมือนเห็ดจำนวนมากมายที่เกาะอยู่บนต้นไม้ในป่า เห็นเป็นดอกเล็กดอกน้อยเหมือนกลุ่มเห็ดซะจริงๆ ห้องหัวแหวนเพชรนั้นเป็นหินงอกที่เป็นหินเป็น ประกายเพชรล่อตาล่อใจให้นักท่องเที่ยวหลายคนเดินมาหยุดตรงจุดเดียวกับที่เราถ่ายรูป นานเลยกว่าจะเดินผ่านไปได้

     ห้องหัวแหวนเพชร เป็นหินงอกที่มีประกายสวยเหมือนเพชร ไกด์ที่นำทางนักท่องเที่ยวถือเอาเป็นกรณีตัวอย่างในการแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราไปจับหินงอกหินย้อย หรือเหยียบมันเข้าละก็ หินพวกนี้จะเปลี่ยนจากหินเป็น กลายเป็น หินตาย นักท่องเที่ยวเดินผ่านเข้ามาเห็นประกายเพชรของหินงอกนี้แล้วก็อยากจะลองเอามือจับดูอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่วนที่มือเอื้อมถึง ก็กลายเป็นหินด้านๆ ตายไปเลย ส่วนที่มือเอื้อมไม่ถึงก็ยังคงส่องประกายเพชร แวววาว อยู่เหมือนเดิม

ห้องเห็ดและห้องประการัง

     ห้องเห็ดและห้องประการัง จากห้องหัวแหวนเพชร (จะว่าเป็นห้องก็คงไม่เชิงนักเพราะหินหัวแหวนเพชรมีจุดเดียวโดดๆ อยู่ข้างทางเดิน) พอเดินต่อมาอีกหน่อยสะพานไม้จะแยกออกเป็น 2 ทางซึ่งทั้ง 2 ทางจะเดินไปบรรจบกันข้างหน้า ไกด์บอกว่าไปทางขวาจะมีอะไรให้ดูสวยกว่า เยอะกว่า ก็เลยเดินไปทางขวา ตรงนี้เป็นทางเดินแคบๆ มีผนังหินงอกหินย้อยอยู่ทั้ง 2 ข้าง หินเหล่านี้ก็แปลกอยู่ใกล้กันแค่เอื้อมถึงแต่รูปร่างกลับต่างกันอย่างสิ้นเชิง ด้านขวาเป็นหินที่ผิวค่อนข้างเรียบมีรูปร่างโค้งมนแปลกๆ ส่วนซ้ายมือเป็นหินตะปุ่มตะป่ำ ดูคล้ายกับเห็ดที่เกาะติดอยู่บนต้นไม้ ดอกเห็ดบานสะพรั่งออกมา เลยเรียกว่าห้องเห็ด ส่วนห้องปะการังต้องเดินต่อไปอีกนิด

ปะการังเพชรน้ำค้าง ถ้ำภูผาเพชร

      ปะการังเพชรน้ำค้าง ถ้ำภูผาเพชร เดินเข้ามาไม่กี่ก้าวหันไปทางขวามือ ผนังถ้ำตรงนี้ทั้งหมดมีหินงอกขึ้นมาเป็นลักษณะปะการัง จากประสบการณ์เดินเที่ยวถ้ำมานักต่อนักเคยได้ยินชื่อหินปะการังมาก็มาก พอไปดูก็มีหินคล้ายปะการังอยู่ในแบบเดียวกับที่เห็นในถ้ำภูผาเพชร แต่ความกว้างใหญ่และจำนวนมีน้อยกว่าเยอะ ที่นี่หินปะการังดูเหมือนปะการังซะจนรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองดำน้ำลงมาใต้ทะเล แต่สีสันนั้นเป็นโทนเดียวกันหมด ถ้าเพียงเปิดไฟสีเขียวสีเหลืองสีส้มเข้ามาช่วย หินตรงนี้ก็คงจะเหมือนปะการังแบบแยกไม่ออกเลยทีเดียว

ทางเดินในถ้ำภูผาเพชร

      ทางเดินในถ้ำภูผาเพชร หลังจากที่พยายามจะเก็บภาพหินปะการังเพชรน้ำค้างให้มากๆ นักท่องเที่ยวครึ่งร้อยก็เดินมาถึงจุดที่เรายืนอยู่ การถ่ายภาพก็เลยต้องสิ้นสุดลงเท่านั้น ตอนนี้เราต้องเดินต่อไป ทิ้งนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่เอาไว้ที่หินปะการัง พอมาถึงตรงนี้สะพานไม้ก็พาเราขึ้นข้างบนด้วยบันได โอบด้วยหินงอกหินย้อยรูปร่างแปลกๆ แลดูน่ากลัววังเวงอยู่เหมือนกัน

ห้องโดมศิลาเพชร

      ห้องโดมศิลาเพชร เดินตามทางเดินมาเรื่อยๆ เราก็จะมายืนอยู่ ณ จุดที่เรียกชื่อว่า โดมศิลาเพชร ก็อย่างที่เห็นละครับว่า บนเนินพื้นถ้ำมีหินงอกก้อนหนึ่งขนาดมหึมา มีรูปร่างเป็นโดมสูงใหญ่ รอบๆ ของหินงอกนี้จะมีลักษณะเป็นริ้วๆ สวยงาม หากเอาไฟฉายไปส่องก็จะเห็นประกายเพชรแวววับจับตารอบโดมหิน ใกล้ๆ กันก็จะเป็นสะพานทางเดินกลับขึ้นไปด้านบนของถ้ำ เป็นเส้นทางเดินออกจากถ้ำไปบรรจบกับทางเข้า แต่ยังก่อน ตอนนี้เรายังเดินถ้ำภูผาเพชรได้แค่ครึ่งทางเองครับ ทางซ้ายของรูปนี้มีสะพานทางเดินทอดยาวลงไปเบื้องล่างอีกไกลเป็นร้อยเมตรทีเดียวละ

ทางเดินในถ้ำภูผาเพชร

      ทางเดินในถ้ำภูผาเพชร เท่าที่เห็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของสะพานไม้ที่ทอดยาวหายไปในความมืด สะพานนี้ยังมีทางแยกอีก 2 จุด ไปทางขวา กับทางเดินที่ตรงเข้าไป เจ้าหน้าที่พยายามจะใช้ไฟฟ้าให้น้อยที่สุด ทางเดินที่นักท่องเที่ยวยังเดินไปไม่ถึงก็จะปิดไฟเอาไว้ เลยทำให้เรามองไม่ค่อยเห็นว่าปลายทางไปอีกไกลแค่ไหน ยืนอยู่ตรงนี้ก็คงจะไม่ได้คำตอบ เข้าไปกันเลยดีกว่า

ลานมรกต ถ้ำภูผาเพชร

      ลานมรกต ถ้ำภูผาเพชร ปลายทางเดินสะพานไม้พาเรามาถึงจุดนี้ พอได้ยืนอยู่ปลายสะพานเราจะมองเห็นปล่องจากเพดานถ้ำเป็นปล่องขนาดใหญ่มีแสงสาดส่องลงมา ในฤดูฝนที่ผีนป่าเขียวขจี มอสสีเขียวก็จะขึ้นปกคลุมพื้นทรายบางส่วนที่เห็นอยู่ข้างล่าง คล้ายๆ พรมสีเขียวที่ปูคลุมพื้นเอาไว้ แต่พอมาในฤดูแล้งซึ่งภาคใต้ก็ยังไม่แล้งมากเท่ากับภาคอื่นๆ สีเขียวที่เกิดจากมอสมีน้อยเลยไม่ค่อยเหมือนกับชื่อที่ว่า ลานมรกต สักเท่าไหร่ ภาพที่เห็นนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่นี้มันใหญ่ขนาดไหน เป็นเพราะเรายืนอยู่บนสะพานไม้ที่สูงจากพื้นหลายสิบเมตร พอถ่ายรูปออกมาก็รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นลานเล็กนิดเดียว แต่ถ้ามีคนเดินผ่านเข้ามาในรูป เราจะเห็นคนตัวเล็กนิดเดียวเองครับ

ลานมรกต ถ้ำภูผาเพชร

      ลานมรกต ถ้ำภูผาเพชร ภาพนี้เป็นมุมจากด้านข้างของลานสีเขียว แม้ตอนนี้พื้นทรายไม่มีมอสสีเขียวปกคลุม แต่ความชื้นที่สะสมมานานปี ทำให้ผนังถ้ำบริเวณนี้ยังคงมีสีเขียวจับอยู่บนผิว พอมีแสงส่องลงมาจากโพลงบนเพดานถ้ำก็เลยทำให้รู้สึกว่าบริเวณนี้มีแสงสีเขียวส่องเข้ามา ด้านหลังของลานมรกตมีทางงเดินต่อไปได้อีก แต่เนื่องจากเราเข้ามานานกว่าเวลาปกติทั่วไปมากแล้ว เราก็เลยต้องทำเวลาให้เร็วขึ้น (ปกตินักท่องเที่ยวมาเดีนถ้ำที่นี่ใช้เวลาประมาณ ไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็เดินทะลุทางออกแล้ว แต่เราต้องเดินไปถ่ายรูปไป ตอนนี้ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงเข้าไปแล้ว ไกด์ก็พยายามจะบอกให้เราเร่งมือให้เร็วที่สุด เราเลยต้องตัดบางส่วนไปคือไม่ได้เดินทั่ว 100% แต่นี่ก็มากมายเหลือเกินแล้วครับกับความสวยงามของถ้ำภูผาเพชร)

ห้องอ่างน้ำ

      ห้องอ่างน้ำ เป็นพื้นที่ที่อยู่ไม่ไกลจากลานมรกตเท่าไหร่ เดินไม่นานก็ถึง เป็นห้องสุดท้ายของทางเดินนี้ จากตรงนี้ต้องเดินย้อนกลับขึ้นบันไดไปทางที่เราเข้ามา ห้องอ่างน้ำที่เห็นจะเป็นลานหินที่มีขอบสูงเหมือนๆ กับน้ำตกหินปูนหลายๆ แห่งที่เราเคยเห็นนอกถ้ำ ในฤดูฝนจะมีน้ำขังอยู่ในแอ่งเหล่านี้แลดูสวยงามมาก แต่ตอนนี้น้ำก็เหือดแห้งหายไปหมด แอ่งน้ำเหล่านี้มามากมายลดหลั่นกันลงไปเรื่อยๆ

ทางเดินในถ้ำภูผาเพชร

      ทางเดินในถ้ำภูผาเพชร อีกภาพหนึ่งสำหรับทางเดิน เราเห็นแสงไฟที่ติดอยู่ตามทางเดินไปแนวยาวหายไปในความมืด เราก็อยากจะถ่ายออกมาให้เห็นเป็นเส้นยาวๆ แต่ก็ทำได้เท่านี้ ทางแยกที่มีบันไดลึกลงไปทางซ้าย ยังมีห้องหินงอกหินย้อยสวยๆ ให้เราไปชมได้อีก แต่ทางไกด์บอกว่าความสวยงามไม่มากเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวไม่ค่อยจะเดินลงไปเพราะลึก ตอนเดินย้อนกลับขึ้นมาก็จะเหนื่อย เจ้าหน้าที่เลยไม่ค่อยจะเปิดไฟทางนั้น เราเองก็เลยไม่ไปด้วยเหมือนกัน ตอนนี้ต้องรีบกลับออกไปจากถ้ำ เพราะเวลาใกล้จะ 4 โมงเย็นแล้ว ถ้ำปิด 4 โมงนะครับ

ซุ้มประตูโขง หินงอก

      ซุ้มประตูโขง หินงอก หินชุดนี้มีบันไดทางเดินแยกออกจากสะพานไม้ตอนที่เราเดินไปห้องลานมรกต ตอนแรกเราไม่ได้เลี้ยวเข้าไป เพราะต้องมุ่งหน้าไปที่ลานมรกตก่อนเพราะอยู่ไกล ขากลับค่อยมาแวะที่นี่ ตอนแรกขามามองเห็นหินงอกคู่นี้อยู่ไกลๆ ในบางมุมดูเหมือนซุ้มประตูโขงที่เห็นอยู่หน้าวัด พอเดินมาด้านหน้าค่อยเห็นว่าหินคู่นี้ไม่ได้เชื่อมต่อถึงกัน สะพานไม้ทอดผ่านทะลุหินงอกทั้งคู่ไป เดี๋ยวจะพาไปดูว่าด้านหลังมีอะไรบ้าง

ห้องหินตา-หินยาย

      ห้องหินตา-หินยาย เป็นข้อมูลที่ได้จากไกด์บรรยายให้ฟังว่าบริเวณห้องกว้างๆ ห้องนี้ มีหินตากับหินยายอยู่ ไกด์ชี้เข้าไปในหลืบมืดๆ ว่าอยู่ตรงนั้น แต่มองเท่าไหร่ก็มองไม่ออกว่าหินไหนหินตา หินไหนหินยาย แต่ที่เห็นก็มีหินย้อยสูงใหญ่ มีแอ่งน้ำอยู่ที่พื้นใกล้ๆ กับหินย้อย บริเวณนี้พื้นลื่นมาก เวลาเดินต้องเดินแบบย่องๆ เอามีบางคนก็พลาดลื่นไถงลงไปเหมือนกัน

ถ้ำภูผาเพชร

      ดูแล้วค่อนข้างชอบมุมนี้เป็นพิเศษ หินที่ดูเหมือนซุ้มประตูโขงพอเดินมาดูมุมสูงเลยได้เห็นว่าส่วนยอดสุด เป็นหินงอกขนาดเล็กที่ตั้งตรงสูงตระหง่านกว่าหินงอกจุดอื่นๆ แล้วก็ยังมีจำนวนมากมายหลายต้น ท่ามกลางโถงถ้ำเพดานสูงและกว้าง หินงอกแท่งเล็กๆ ดูสวยแปลกดีไปอีกแบบ

โดมศิลาเพชร

      โดมศิลาเพชร หลังจากที่ถ่ายรูปหินงอกหินย้อยหลายๆ จุดเสร็จแล้ว เรายังคงติดใจกับโดมหินขนาดใหญ่ที่มีประกายเพชรระยิบระยับในตัวเอง เราเดินกลับมาตั้งขาตั้งถ่ายรูปซ่อมเผื่อว่าจะถ่ายได้สวยกว่าภาพแรกๆ ไกด์ของเราเห็นว่าใกล้ทางออกมากแล้วและเราก็ใช้เวลาในถ้ำนี้นานมากแล้วด้วยไกด์ก็เลยเดินออกไปที่ปากถ้ำ จากนั้นอีกไม่นานนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ๆ ที่เดินตามหลังเราก็แซงเราออกไปหมด เจ้าหน้าที่ปิดไฟในถ้ำ ก็ซวยละสิ เค้าคงลืมไปแล้วว่ายังมีเราอยู่ในถ้ำอีก 2 คน พอไฟดับทุกอย่างก็มืดหมด เราก็อุทานด้วยความตกใจ ท่าทางว่าเสียงอุทานในถ้ำจะดังก้องไปถึงข้างนอก อีกไม่นานไฟก็สว่างขึ้นมาอีก เราเป็นนักท่องเที่ยวชุดสุดท้ายที่ยังไม่ได้ออกจากถ้ำ พอรู้แบบนี้แล้วก็เลยรีบเดินขึ้นบันไดอ้อมโดมศิลาเพชรขึ้นมา แต่ก็ยังไม่วายติดใจหันไปเก็บภาพนี้มาอีกจนได้ ประกายเพชรในโดมศิลาจะมองเห็นได้ถ้าเราอยู่ใกล้ๆ พอเดินออกมาห่างหน่อยก็ยังคงพอมองเห็นแต่ถ่ายรูปไม่เห็นแล้ว

ห้องสุดท้ายของถ้ำภูผาเพชร

      ห้องสุดท้ายของถ้ำภูผาเพชร จากโดมศิลาเพชรเดินขึ้นบันไดมาเรื่อยๆ ก็จะมีช่องเล็กๆ ให้เราลอด เล็กจนไม่น่าเชื่อเลยว่าเป็นทางเดินที่อยู่ในถ้ำภูผาเพชร แล้วพอผ่านช่องเล็กๆ นั้นมาได้ เราก็มายืนอยู่ที่โถงอันยิ่งใหญ่อีกด้านหนึ่ง นี่แหละความมหัศจรรย์ของถ้ำที่แท้จริง ซับซ้อนเกินคาดเดา หลังจากที่ได้มองรอบๆ ก็พอนึกได้แล้วว่า ห้องโถงใหญ่ห้องนี้มันก็คือห้องโถงแรกที่เราก้าวเข้ามาจากปากถ้ำนั่นเอง ห้องนี้ก็เลยเป็นทั้งห้องแรกแล้วก็ห้องสุดท้าย

ห้องแรก ถ้ำภูผาเพชร

      ห้องแรก ถ้ำภูผาเพชร ก่อนที่จะก้าวเดินตามสะพานไม้ออกปากถ้ำ ขอเก็บภาพนี้อีกครั้งหนึ่ง รู้สึกว่าภาพเดียวกันนี้ตอนที่ถ่ายทีแรกที่เข้ามามันยังไม่สวยพอ แถมตอนนี้ยังโชคดีมีคนเดินเข้ามาอีกเป็นสิบคนเลย เห็นอยู่ตรงสะพานไม้ข้างล่าง เลยเอามาประกอบความยิ่งใหญ่ของถ้ำภูผาเพชรได้เป็นอย่างดี ความกว้างใหญ่ของห้องโถงแรกนี้ลองดูจากขนาดของคนที่เดินลงเอาเองนะครับว่าใหญ่ขนาดไหน เห็นทีว่าเราต้องจบการนำเที่ยวถ้ำภูผาเพชรเอาไว้ด้วยรูปนี้เลย

      อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะพูดถึงก็คือสะพานไม้ที่ทอดยาวไม่รู้กี่ร้อยเมตรผ่านจุดสำคัญๆ สวยๆ ของถ้ำ เมื่อหลายปีก่อนมันยังไม่ถูกสร้างขึ้น นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวที่นี่ต้องเดินไปตามสภาพพื้นจริงของถ้ำ ลำบากกว่านี้เยอะทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลจาก

touronthai.com

โพสต์โดย : ต้นน้ำ