Social :



ชายเลนเข้มแข็ง ท้องถิ่นร่วมสร้าง พัฒนาอย่างยั่งยืน ที่จังหวัดตราด

03 ก.ค. 59 08:30
ชายเลนเข้มแข็ง ท้องถิ่นร่วมสร้าง พัฒนาอย่างยั่งยืน ที่จังหวัดตราด

ชายเลนเข้มแข็ง ท้องถิ่นร่วมสร้าง พัฒนาอย่างยั่งยืน ที่จังหวัดตราด

    “ตราด”   สุดเขตบูรพาทิศ สุดปลายแหลมภาคตะวันออก เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเมืองแห่งความสุขสีเขียว เต็มเปี่ยมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและชายฝั่งอันงดงาม ก็ด้วยสำนึกและความร่วมมือของคนท้องถิ่น ที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเท่านั้น แต่เป็นทั้งผู้สร้างและดูแลรักษาในเวลาเดียวกัน ทำให้ตราดยังมีอากาศบริสุทธิ์ ฟ้าสวยทะเลใส แทบจะไม่มีหมอกควันหรือสารพิษจากโรงงานให้พบเห็นเลยก็ว่าได้ 

บรรยากาศความสมบูรณ์ของป่าชายเลนชุมชนบ้านเปร็ดใน
         “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร.”  ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ โดยได้จัดให้มีการมอบ  “รางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม”  รางวัลอันทรงเกียรติที่ถูกมอบให้กับส่วนราชการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จากความมุ่งมั่นในการปฎิบัติหน้าที่จนเป็นผลสำเร็จของทั้งประชาชนและข้าราชการนี่เอง ตราดจึงเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับ   “รางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2558 ประเภทรางวัลการพัฒนาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ในระดับดีเยี่ยม”  จาก  “โครงการเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งป่าชายเลนยั่งยืน : กรณีตัวอย่างจังหวัดตราด”  

บรรยากาศความสมบูรณ์ของป่าชายเลนชุมชนบ้านเปร็ดใน
         นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการ ก.พ.ร.  เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนของภาคประชาชนในพื้นที่ จัดตั้งเครือข่ายกลุ่มอนุรัษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และส่งเสริมการร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนา ตั้งแต่การร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันใช้ประโยชน์ รวมถึงการเน้นความร่วมมือของหน่วยงานรัฐในพื้นที่ ภาคประชาชนและเอกชน ซึ่งทำให้ลดการขัดแย้งระหว่างกัน เกิดความร่วมมือ ป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าให้แก่ประเทศอีกด้วย 

ปลาตีน อีกหนึ่งตัวชี้วัดของความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
        ทุกอย่างที่กล่าวไปเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของชาวตราดทั้งสิ้น ที่มีการร่วมกลุ่มเป็นเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนถึง 14 กลุ่มจาก 14 ชุมชนด้วยกัน ซึ่งชาวบ้านจะเข้ามามีบทบาทกับเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังการบุกรุกตัดไม้เถื่อน และยังร่วมกันจัดกิจกรรมอนุรักษ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เก็บขยะ ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละชุมชน โดยขอยก 2 ชุมชนที่ร่วมมือกันพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน 

บรรยากาศความสมบูรณ์ของป่าชายเลนชุมชนบ้านเปร็ดใน
        ชุมชนแรกกับชุมชน  “บ้านเปร็ดใน”  อ.เมือง จ.ตราด เป็นชุมชนที่มีทรัพยากรป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก โดยมีพื้นที่ป่ากว่า 12,000 ไร่ ชาวบ้านจึงมีวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดและพึ่งพาธรรมชาติ ใช้ชีวิตได้ด้วยทรัพยากรในชุมชนโดยไม่ต้องพึ่งพาจากภายนอกที่จะทำให้วิถีของชุมชนขาดสมดุล เกิดภูมิปัญาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ อย่างเช่นการร่วมกลุ่มกันในชื่อ  “กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน ” เพื่อเป็นการกำหนดกฎกติกาในการใช้ประโยชน์ และมีกิจกรรมการตรวจตราและปลูกป่าที่ชัดเจน 

บรรยากาศศูนย์ศึกษานิเวศป่าชายเลนชุมชนบ้านเปร็ดใน
        นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอนุรักษ์ปูแสม รณรงค์ให้ชาวบ้าน  “หยุดจับร้อย คอยจับล้าน”  หมายถึงการหยุดจับปูในหน้าวางไข่ เพราะปูเพียงตัวเดียวก็สามารถวางไข่ได้หลายแสนฟอง โดยช่วงวางไข่กินเวลาเพียง 3 วัน และหลังจากนั้นก็สามารถจับปูได้ปกติไม่กระทบต่อทั้งชาวบ้าน และยังเป็นการรักษาระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย ซึ่งการทำงานแบบมีส่วนร่วมกันกับราชการนี้ ทำให้ชาวบ้านยอมรับกติกาและเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์มากขึ้น และถูกถ่ายทอดไปยังเยาวชนรุ่นต่อไปในชื่อ  “ลูกป่าไม้เลน”  

ทัศนียภาพมุมกว้างของป่าชายเลนชุมชนบ้านเปร็ดใน
Lif
        ด้วยความสวยงามของธรรมชาตินี่เอง บ้านเปร็ดในจึงเป็นอีก  “แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์”  จะเดินหรือนั่งเรือชมป่าชายเลน ชมวิถีชีวิตชุมชนอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นอาหารพื้นบ้าน เช่น ปูแสมดอง ปูแสมสามรส ข้าวเกรียบสมุนไพร หรือจะเป็นศิลปะการแสดงขึ้นชื่ออย่าง การแสดงกลองยาว การร้องเพลงเกี่ยวข้าวและสงฟาง ซึ่งสืบเนื่องมาจากการทำนาในอดีต มีการเดินศึกษาเส้นทางธรรมชาติชมนกเหยี่ยวแดง นกอีโค้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงนกอพยพ รวมทั้งชมหิ่งห้อยซึ่งมีอยู่อย่างมากมายในช่วงกลางคืน และในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีจะมีการจัดงาน  “เทศกาลกินปูนิ่ม ชิมหอย”  เรียกได้ว่ามีอาหารทะเลสดๆ มากมายให้เลือกชิม 

บรรยากาศวิถีชีวิตของชาวบ้านน้ำเชี่ยว
        มาถึงอีกชุมชนอนุรักษ์กับชุมชน  “บ้านน้ำเชี่ยว”  อ.แหลมงอบ จ.ตราด ที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านเป็น  “กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านน้ำเชี่ยว”  ที่คอยปลูกฝังความคิดในการรักษาทรัพยากรเพราะว่าทุกคนในชุมชนย่อมได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อย่างเช่นน้ำหรืออากาศ นั่นจึงเป็นตัวจุดประกายสำนึกรักษ์บ้านเกิด และเป็นที่มาของ  “เครือข่ายเยาวชน ฅ.คนต้นน้ำ”  ที่เกิดจากชาวบ้านเพียงคนเดียวที่เห็นว่ามีขยะอยู่มากมายในลำคลอง จึงเริ่มเก็บด้วยตัวคนเดียว และเมื่อเด็กๆ ในชุมชนเห็นก็มาช่วยกันเก็บ กลายเป็นการรวมกลุ่มการเก็บขยะเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ และเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์ให้เยาวชนรุ่นหลังได้รักษาและสืบทอดทรัพยากรที่มีอยู่ต่อไป เสมือนการส่งต่อไม้ผลัดจากรุ่นสู่รุ่นไปอย่างไม่มีสิ้นสุด 

“มัสยิดอัลกุบรอ” มัสยิดเก่าแก่แห่งแรกของภาคตะวันออกที่มีอายุกว่า 200 ปี
         “บ้านน้ำเชี่ยว”  ชุมชน 2 ศาสนา (พุทธและมุสลิม) 3 วัฒนธรรม (ไทย จีน และอิสลาม) ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีวิถีที่มีเสน่ห์แปลกตาออกไป และด้วยความที่เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์ ทำให้บ้านน้ำเชี่ยวมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่หลากหลายจุดไม่ว่าจะเป็น  “มัสยิดอัลกุบรอ”  มัสยิดเก่าแก่แห่งแรกของภาคตะวันออกที่มีอายุกว่า 200 ปี สร้างโดยชาวมุสลิมที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมทีนั้นมัสยิดอัลกุบรอสร้างขึ้นแบบง่ายๆ ใช้ไม้โกงกางปักเป็นเขต 4 ต้น หลังคามุงด้วยใบปรงสานเป็นตับเหมือนตับจาก และได้มีการปรับปรุงเรื่อยมากลายเป็นมัสยิดรูปทรงสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ริมคลองน้ำเชี่ยวให้ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาพบเห็นมาแต่ไกล 

"สะพานวัดใจ" สะพานข้ามคลองน้ำเชี่ยว
        และอีกไฮไลต์หนึ่งของน้ำเชี่ยวก็คือสะพานข้ามคลองน้ำเชี่ยว หรือที่เรียกว่า  "สะพานวัดใจ"  เพราะด้วยความสูงของสะพานเองจึงเป็นที่มาของชื่อ เนื่องด้วยวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ทำประมงกันจึงต้องสร้างสะพานให้สูงเพื่อที่เรือประมงสามารถลอดใต้สะพานได้นั่นเอง 

กิจกรรมการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
        นอกจากนี้ยังมีศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ที่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติสร้างทอดยาวนำชมสิ่งน่าสนใจ อย่างระบบนิเวศป่าชายเลน ปู ปลาตีน ลิง และนกจำนวนมาก และมีหอดูนกสูงกว่า 12 เมตร ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปกินลม ชมวิวและส่องนกได้อีกด้วย ซึ่งบนนั้นสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของป่าชายเลนได้รอบด้าน ในยามค่ำคืนป่าชายเลนแห่งนี้ถือเป็นจุดชมหิ่งห้อยที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งด้วย และยังมีกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ให้เข้าร่วมอีกมากมาย อย่างการเก็บขยะในคลอง การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเป็นการช่วยขยายพันธุ์สัตว์ภายในระบบนิเวศ หรือจะเป็นการล่องเรือเพื่อเยี่ยมชมทัศนียภาพป่าชายเลนอันสมบูรณ์ของน้ำเชี่ยวก็ได้ 

การล่องเรือชมทัศนียภาพป่าชายเลนบ้านน้ำเชี่ยว
        ซึ่งทั้ง 2 ชุมชนนี้ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ตราดเป็นเมืองแห่งความสุขสีเขียว จนได้รับการยอมรับจาก ก.พ.ร. ถึงการทำงานแบบมีส่วนร่วมทำให้ตราดมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ จากสองมือของคนคนหนึ่งรวมกันเป็นชุมชน และผนึกกำลังเป็นจังหวัด เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ต้นแบบที่ไม่ใครหรือชุมชนใดก็สามารถทำได้อย่างแน่นอน เพียงแค่ร่วมใจกัน
       
       *************************************************
       
        สำหรับผู้สนใจไปเยี่ยมชม 2 ชุมชนอนุรักษ์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ "บ้านเปร็ดใน" : ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดใน โทร. 08-9248-7813, 08-1523-3314 และ "บ้านน้ำเชี่ยว" : งานพัฒนาการท่องเที่ยว เทศบาลบ้านน้ำเชี่ยว โทร. 0-3953-2959  

โพสต์โดย : nampuengeiei9760