Social :



อุทยานสามก๊ก จากวรรณกรรม สู่สถาปัตย์...เที่ยวกี่จบ ก็คบได้

19 ก.ค. 59 12:44
อุทยานสามก๊ก จากวรรณกรรม สู่สถาปัตย์...เที่ยวกี่จบ ก็คบได้

อุทยานสามก๊ก จากวรรณกรรม สู่สถาปัตย์...เที่ยวกี่จบ ก็คบได้

อุทยานสามก๊ก จากวรรณกรรม สู่สถาปัตย์... เที่ยวกี่จบ ก็คบได้

 


 

 

หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ใครอ่านสามก๊กครบสามจบ...คบไม่ได้” ด้วยเหตุที่เนื้อหาของวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์จีนเรื่องนี้เต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบายของตัวละครที่อยู่ในเนื้อเรื่อง หากมองในมุมกลับ สามก๊ก จัดเป็นวรรณกรรมเพชรน้ำเอกที่สอดแทรกปรัชญาชีวิต เสมือนเป็นคู่มือทางจิตวิทยามนุษย์ เพราะนิสัยของตัวละครล้วนบ่งบอกถึงจิตใจความเป็นมนุษย์ที่มีความรักชาติยิ่งกว่าชีวิต (เตียวเสี้ยน) เห็นแก่ตัวเป็นที่สุด (ตั๋งโต๊ะ) มีฝีมือเก่งกาจแต่นิสัยเลวทราม (ลิโป้) ฉลาดหลักแหลมและภักดี (ขงเบ้ง) ถือน้ำใจเป็นเรื่องใหญ่ (กวนอู) โดย หลอกว้านจง สามารถเขียนถึงเบื้องลึกจิตใจของมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยม

 


 


ตัวผมเองขอยอมรับตามตรงว่ายังไม่เคยอ่านสามก๊กจนจบ จะมีก็เพียงการได้อ่านแบบผ่านๆ ในบทเรียน และการชมภาพยนตร์ที่เข้ามาฉายในประเทศไทย แต่นั่นก็เป็นเพียงตอนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมดที่เน้นไปเพื่อการบันเทิงมากกว่าให้ข้อมูลที่เป็นจริง

 

แต่เมื่อเดือนที่แล้ว ผมมีโอกาสไปเยี่ยมเยือน “อุทยานสามก๊ก” แหล่งท่องเที่ยวที่งดงามด้วยการผสมผสานสถาปัตยกรรมไทย-จีน ซึ่งอบอวลไปด้วยบรรยากาศยุคสามก๊ก ทริปนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าสามก๊กไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อความบันเทิงแต่อย่างเดียว แต่ผู้ประพันธ์ได้แอบซ่อนเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของชนชาติ แนวคิด ปรัชญา และความเป็นอารยธรรมที่รุ่งเรืองในอดีตไว้ในทุกตัวอักษร

 


 


ด้วยที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองพัทยาเพียง 15 นาที ทำให้การเดินทางมาเที่ยวอุทยานสามก๊กนั้นแสนจะสะดวกสบาย หลังจากจ่ายค่าบัตรผ่านประตูราคา 80 บาท ทันทีที่ก้าวเข้าไปยืนบนเนื้อที่ประมาณ 36 ไร่ของอุทยาน ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองได้หลุดเข้าไปอยู่ในเมืองจีน เพราะเสาแต่ละต้น อาคารแต่ละหลัง กระเบื้องแต่ละชิ้น ล้วนฉาบทาไปด้วยกลิ่นอายการผสมผสานของสถาปัตยกรรมจีนและเอกลักษณ์ความเป็นอารยธรรมโบราณไว้

 

โดย คุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง (เสียชีวิตแล้ว) ผู้ก่อตั้ง หวังสร้างสถานที่แห่งนี้ให้เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศจีน ซึ่งการออกแบบอย่างบรรจงนั้นได้สะท้อนถึงความเป็นลูกหลานคนจีนที่เข้ามาเจริญเติบโตและสร้างเนื้อสร้างตัวบนแผ่นดินไทย คุณเกียรติได้สร้างสถานที่แห่งนี้เพื่อให้ชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวต่างประเทศได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นแล้วคุณเกียรติยังมีเจตนารมณ์ที่จะใช้สถานที่แห่งนี้เพื่อหารายได้นำกลับไปตอบแทนสังคมและแผ่นดินไทยที่ท่านได้อาศัยอยู่

 


 


เมื่อผ่านประตูเข้ามา นอกจากกลิ่นอายวัฒนธรรมจีน สิ่งแรกที่ผมได้สัมผัส คือ ระเบียงจิตรกรรม ที่แสดงเรื่องราวของวรรณกรรมสามก๊กตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง รวมทั้งสิ้น 56 ตอน ทั้งหมดนี้ได้รับการคัดสรรบรรจงวาดลงบนแผ่นกระเบื้องเคลือบดินเผา พร้อมเนื้อหาบรรยายเหตุการณ์อย่างถูกต้อง ผมเพลินไปกับการอ่านสามก๊กฉบับย่อที่นำเสนอได้อย่างกระชับ เข้าใจง่าย อ่านเพลินๆ เดินไปเรื่อยๆ จนระเบียงที่ยาวกว่า 221 เมตร ดูเหมือนว่าจะสั้นเกินไปด้วยซ้ำ เมื่อการอ่านเรื่องสามก๊กอ่านสนุกกว่าที่เคย

 

 

 


สุดสิ้นระเบียง แต่ยังไม่สิ้นสุดเรื่องราว เราจะได้พบกับ ศาลเทพเจ้ากวนอู ศาลบูชาเทพที่ชาวจีนต่างยกย่องในความซื่อสัตย์ ด้วยใบหน้าแดงก่ำบวกกับมือถืออาวุธคู่กายคือง้าวเล่มโต ว่ากันว่านายช่างจีนบรรจงหล่อมาจากต้นฉบับเดิม ทำให้รูปปั้นท่านดูศักดิ์สิทธิ์และน่าเกรงขามเป็นอย่างมาก ข้างๆ กันนั้นเราจะพบกับอาคารอเนกประสงค์ ภายในเป็นที่ตั้งของรูปปั้นเทพเจ้า ฮก ลก

Lif
ซิ่ว และเทพ 18 อรหันต์ พร้อมเรื่องราวของเทพแต่ละองค์

 

จากตรงนี้เราจะมองเห็น อาคารประธาน อาคารทรงจีนโบราณความสูงสี่ชั้นที่วางตัวเด่นอยู่กลางอุทยาน มีทางเดินที่ทอดตัวยาวเป็นแนวโค้งไปจนถึงทางเข้า เมื่อผมเดินไปตามทางเดินนี้ นอกจากความรู้สึกเย็นสบายจากพื้นหินอ่อนและบรรยากาศอันร่มรื่นน่าเดินแล้ว ฝ้าเพดานที่ทำมาจากไม้แกะสลักยังให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังจีนกำลังภายในอีกด้วย

 

เมื่อเดินเข้าไปในตัวอาคาร ชั้นที่หนึ่ง จะเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ เราจะพบกับที่จัดแสดงรูปปั้น ผลงาน ประวัติ รวมไปถึงจดหมายเปิดผนึกของคุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง และที่นี้เองมีการจัดแสดงรูปปั้นตัวละครเอกของวรรณกรรมสามก๊ก ไม่ว่าจะเป็น เล่าปี่ โจโฉ ซุนกวน ขงเบ้ง ฯลฯ ที่ใช้ช่างปั้นเลื่องชื่อจากประเทศจีนเป็นผู้ออกแบบและปั้นแบบ Limited มีที่เดียวในโลก รวมทั้งหมด 12 ชิ้น รวมทั้งการจัดแสดงแผนผังของยุคสามก๊กที่บอกเล่าถึงบุคคลที่มีความสำคัญของแต่ละก๊ก ทั้ง ง่อก๊ก วุยก๊ก จ๊กก๊ก แสดงรายละเอียดการมีชีวิตอยู่ การครองราชย์ และสังกัดของแต่ละคนแบบเข้าใจง่าย

 

ขึ้นไปบนชั้นสองและชั้นสาม เราจะพบกับจิตรกรรมภาพบนผืนผ้าใบที่รังสรรค์งานศิลปะทุกภาพ ใช้ช่างศิลป์ชั้นเอกจากเมืองจีนมาถ่ายทอดความเป็นเอกลักษณ์ของลายเส้นแบบจีนทุกชิ้นงาน

 

ในชั้นที่สี่ ชั้นสุดท้าย จัดเป็นหอพระแก้ว มีพระพุทธรูปปางประทานพร ที่มีพุทธลักษณ์อันงดงามตามแบบศิลปะจีน พร้อมรูปปั้นของพระสังกัจจายน์ และพระโพธิสัตว์ตี่จั่งอ๊วง ที่ชาวจีนและชาวไทยต่างให้ความเคารพศรัทธาในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และเมื่อออกมายืนที่ริมระเบียงของชั้นนี้ ลมเย็นๆ ที่ลอยมาปะทะใบหน้า บวกกับทิวทัศน์แบบ 360 องศา บอกได้คำเดียวว่า สุดบรรยาย +++

 

หลังจากรับลมชมวิวอยู่สักพัก ผมก็ได้ลงไปสำรวจสวนสวยๆ ที่อยู่ทางด้านหลังที่สวยแปลกตาและไม่เหมือนใคร เป็นไม้ที่กลายเป็นหินจัดตกแต่งภายในสวนได้อย่างลงตัว

 


 


และที่ขาดไม่ได้หากได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้ คือการได้มาไหว้ขอพร พระโพธิสัตว์พระแม่กวนอิม ที่อยู่ทางขวามือของอาคารประธาน องค์พระแกะสลักด้วยหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์แบบปางประทับนั่ง ด้วยขนาดความสูงถึง 405 เซนติเมตร กว้าง 127 เซนติเมตร ที่ตั้งอยู่ในอาคารทรงสูงแบบจีน ทำให้สถานที่แห่งนี้ดูสงบและศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก

 

ตะวันเย็นย่ำใกล้ค่ำต้องกลับลา แม้จะยังไม่เต็มอิ่มกับเรื่องราวของสามก๊กที่อัดแน่นอยู่ในทุกส่วนของอุทยานแห่งนี้ และแม้จะยังไม่ได้คำตอบของคำกล่าว “ใครอ่านสามก๊กครบสามจบ...คบไม่ได้” แต่เมื่อกลับไปแล้ว ผมตั้งใจจะอ่านสามก๊กให้จบสักครั้งก็ยังดี +++

 


 

 

การเดินทางตามรอยสามก๊กไม่ยากอย่างที่คิด จากกรุงเทพฯ หากใช้เส้นทางบูรพาวิถี เมื่อถึงเส้นพัทยาเหนือ ให้เลี้ยวซ้ายจาก ถ.สุขุมวิท ตรงซอยแม่ลาปลาเผา (ถ.ประชานิมิตร) ผ่านอ่างเก็บน้ำมาบประชันไปประมาณ 500 เมตร หรือหากใช้เส้นมอเตอร์เวย์ ก็ใช้เส้นที่ผ่าน อ.บางละมุง อุทยานสามก๊ก ตั้งอยู่ที่ 100 หมู่ 9 ต.โป่ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จดเบอร์โทร.ไว้กันพลาด 038 421428-9 กับ 08 1762 3105

 

 

อุทยานสามก๊กเปิดให้เข้าชมได้ทั้งปี ในวันจันทร์-ศุกร์ จะเปิดเวลา 10 โมงเช้า- 5 โมงเย็น ส่วนในวันเสาร์-อาทิตย์ เปิด 10 โมงเช่นกัน แต่จะเลื่อนไปปิดตอน 6 โมงเย็น ส่วนราคาค่าเข้าชม สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็ก 40 บาท ส่วนชาวต่างชาติ ราคาผู้ใหญ่อยู่ที่ 150 บาท เด็ก 80 บาท



topicza.com

โพสต์โดย : ครองแครง