แนวทางลดความ “เขินอาย” กลัวการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ
คุณ...กำลังตกอยู่ในปัญหาเหล่านี้อยู่หรือเปล่า คำสัง / บังคับ / รับสั่งมอบหมาย ให้ออกไปพูดต่อหน้าผู้คนมากมาย แต่เพราะตัวเราเป็นคน เขิน ขี้อาย ตื่นเวที จนทำให้รู้ประหม่าขึ้นมาทันที แล้วคุณแก้ปัญหาอย่างไร ถ้ายังคิดไม่ออกวันนี้เรามีวิธีเด็ดๆมาฝาก แนวทางลดความ “เขินอาย” กลัวการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ ตามไปอ่านแล้วนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเหตุการณ์ในวันข้างหน้ากันค่ะ
เตรียมตัวเท่าที่มีเวลา
ได้ยินหัวข้อนี้แล้วอาจนึกเถียงในใจ ว่าถ้าเราถูกเรียกออกไปพูดแบบฉุกละหุกล่ะ จะเอาเวลาที่ไหนมาเตรียมตัว ถึงจะฉุกละหุกขนาดไหน อย่างน้อยเราก็น่าจะมีเวลาเตรียมตัวสักครึ่งนาที หรือแม้แต่ระหว่างที่เรากำลังเดินไปบนเวที เดินไปหยิบไมค์ เวลาเพียงไม่กี่วินาทีตรงนั้นก็สามารถใช้เป็นช่วงเวลาในการเตรียมตัวได้
คิดทบทวนสิ่งสำคัญ
รีบคิดทบทวนสิ่งสำคัญที่ต้องพูดในหัวของเรา เช่น ชื่องานในวันนี้ ชื่อบุคคลสำคัญที่เราต้องพูด ข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่ต้องพูดและห้ามพลาด
อย่าคิดกังวลจนเกินไป
บอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า “เราทำได้” และ “มันไม่แย่อย่างที่คิด” เมื่อเราไม่สามารถปฏิเสธการพูดครั้งนี้ ถ้าอย่างนั้นก็ลุยทำมันไปให้เต็มที่ ทำเท่าที่ทำได้ เป็นตัวของตัวเอง และอย่าคิดกังวล
พยายามสบตาเพื่อนของเรา
หากเรามีเพื่อนที่คอยให้กำลังใจเวลาเราพรีเซนต์งานหน้าห้อง ก็จะช่วยให้เรารู้สึกอุ่นใจขึ้นเยอะเลยค่ะ ลองมองหาเพื่อนหรือคนรู้จักท่ามกลางผู้ฟังมากมาย ค้นหาคนคนนั้นให้เจอ แล้วคอยสบตาเขาเป็นระยะ เปลี่ยนการพูดในพื้นที่สาธารณะท่ามกลางผู้ฟังจำนวนมาก ให้กลายเป็น
การพูดคุยกับเพื่อน คิดเสียว่า เรากำลังพูดให้เพื่อนฟัง เพื่อลดอาการประหม่าที่อาจเกิดขึ้น เมื่อรู้สึกกลัวน้อยลง ลองค่อยๆ สลับไปสบตาผู้ฟังคนอื่นบ้าง เราอาจจะพบว่ามีคนที่กำลังตั้งใจฟังสิ่งที่เราพูด และคอยพยักหน้าตอบรับ ให้กำลังใจเราอยู่ก็ได้ค่ะ
ชวนคุย
การเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้มีการโต้ตอบกลับมาบ้าง จะช่วยลดความเกร็งลงไปได้บ้าง เพราะเวลาที่เราพูดอยู่คนเดียว ก็จะกลายเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ผู้ฟังจ้องหนาเราจนรู้สึกเกร็ง ถ้าเราลองเปลี่ยนเป็นการพูดคุยกัน จะทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลง ลองตั้งคำถามกลับไปยังผู้ฟังบ้าง หรือชี้ชวนให้ดูอะไร เพื่อให้ผู้ฟังละสายตาไปจากตัวเราได้บ้าง ก็จะช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น
เตรียมมุกตลกไปบ้าง
แทรกมุกตลกเข้าไปบ้างนิดๆ หน่อยๆ ตามความเหมาะสม เพื่อให้บรรยากาศสนุกสนานมากขึ้น เพื่อความผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด และทำให้ดารพูดไม่น่าเบื่อจนเกินไป
ตั้งสติ
ข้อนี้สำคัญที่สุด อย่าลนลานและตรงไปตรงมา ถ้าพูดผิด ก็ขอโทษด้วยความจริงใจ ถ้าเกิดปัญหาอะไร ก็ค่อยๆ แก้ไขไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าเผลอพูดผิด ขอให้สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดนั้นอย่างมั่นใจ ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถเกิดขึ้นได้
goodlifeupdate
โพสต์โดย : FILM1205