Social :



พบพืชชนิดใหม่ของโลก ‘พรหมจุฬาภรณ์’ ที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็ง

21 ส.ค. 62 10:08
พบพืชชนิดใหม่ของโลก ‘พรหมจุฬาภรณ์’ ที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็ง

พบพืชชนิดใหม่ของโลก ‘พรหมจุฬาภรณ์’ ที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็ง

พบพืชชนิดใหม่ของโลก ‘พรหมจุฬาภรณ์’
ที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็ง

รองศาสตราจารย์  ดร.สัมพันธ์  สิงหราชวราพันธ์  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  รองศาสตราจารย์  ดร.คมกฤต  เล็กสกุล   รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  ศาสตราจารย์  ดร.ธรณินทร์  ไชยเรืองศรี   คณบดีคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าวการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก  โดยได้รับพระราชทานนาม  พรหมจุฬาภรณ์

รองศาสตราจารย์  ดร.สัมพันธ์   กล่าวว่า  ทีมคณะนักวิจัยนำโดย  อาจารย์  ดร.ธนวัฒน์  เชาวสกู  สังกัดภาควิชาชีววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์  มช.  น.ส.อานิสรา ดำทองดี  นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา  สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ภาควิชาชีววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์ มช.  และนายกิติศักดิ์ อ๋องย่อง  นักวิจัยอิสระ  ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง  ‘อนุกรมวิธาน  และวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์ กระดังงา  (Annocaceae)   ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก  เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน’  ซึ่งโครงการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำหนังสือ พรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย  (Flora  of  Thailand)   และได้รับการสนับสนุนบางส่วนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)   ภายใต้ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่


“การวิจัยครั้งนี้ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก (new  species)  ในสกุลมหาพรหม (Mitrephora (Blume) Hook.f. & Thomson)  จากป่าบนเขาหินปูนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งพืชชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือ  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก  สูงไม่เกิน  2  เมตร  มีดอกขนาดเล็กที่สุดในสกุล  ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน  1  เซนติเมตร สีขาวเด่น และเปลี่ยนเป็นสีครีมเมื่อดอกมีอายุมากขึ้น  มีกลิ่นหอมปานกลางคล้ายกลิ่นดอกโมก  กลีบดอกชั้นในประกบกันเป็นรูปโดม  โคนกลีบคอด เผยให้เห็นช่องว่างระหว่างกลีบ  ผลเมื่อสุกสีแดงอมส้ม”


รองศาสตราจารย์  ดร.สัมพันธ์  กล่าวว่า  ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ  ศาสตราจารย์  ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์  อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน  วรขัตติยราชนารี  ที่ทรงสนพระทัยการศึกษาวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์เคมี วิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์  และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะสหสาขาวิทยาศาสตร์ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ  โดยทรงริเริ่มการก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ในสาขาดังกล่าว อันมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ กอปรกับเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้กราบทูลขอพระราชทานนามไทย ‘พรหมจุฬาภรณ์’ สำหรับพืชชนิดใหม่ของโลกชนิดนี้ และกราบทูลขอพระราชทานนามระบุชนิด ‘chulabhorniana’   เพื่อเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Mitrephora  chulabhorniana  Damth ., 
Lif
Aongyong  &  Chaowasku 
และได้รับพระราชทานนามทั้งสอง อันเป็นเกียรติแก่คณะผู้วิจัยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง


อาจารย์ ดร.ธนวัฒน์ กล่าวเสริมว่า พรหมจุฬาภรณ์ หรือ Mitrephora chulabhorniana Damth., Aongyong & Chaowasku ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ  Brittonia  เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม  พ.ศ. 2562  เป็น พันธุ์ไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด (critically endangered) พบเพียงไม่กี่ต้น บริเวณป่าดิบแล้งบนเขาหินปูนขนาดเล็กในอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่นอกเขตอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบบนิเวศเขาหินปูนนั้นเป็นระบบนิเวศที่เปราะบาง และมักพบสิ่งมีชีวิตที่จำเพาะ กล่าวคือ ไม่พบที่อื่นใดอีก เมื่อถูกคุกคามมีโอกาสสูญพันธุ์สูง

เขาหินปูนลูกที่พบต้นพรหมจุฬาภรณ์นี้มีโอกาสถูกคุกคามในอนาคตอันใกล้  เนื่องจากการขยายตัวของสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน  หรือแม้กระทั่งการระเบิดหินปูนเพื่อการใช้ประโยชน์  จึงสมควรอย่างยิ่งที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง  อีกทั้งประชาชนคนไทยทุกคน จักต้องช่วยกันหวงแหนเขาหินปูนในประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลก  นอกจากนี้  ยังสามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพ  โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อช่วยขยายพันธุ์ต้นพรหมจุฬาภรณ์ให้มีจำนวนมากขึ้น  และนำไปปลูกอนุรักษ์ไว้ในสวนพฤกษศาสตร์ หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ เป็นการลดโอกาสการสูญพันธุ์ของต้นพรหมจุฬาภรณ์

การค้นพบ  ‘พรหมจุฬาภรณ์’  นี้  จัดได้ว่าเป็นงานวิจัยพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาต่อยอดในสาขาต่าง ๆ  เปรียบเสมือนกับต้นน้ำที่ค่อย ๆ  ไหลไปยังกลางน้ำและปลายน้ำ  ซึ่งก็คือการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน  ถ้าขาดพื้นฐาน ประเทศชาติย่อมขาดโอกาสในการพัฒนาต่อยอด  การพัฒนายารักษาโรคจากพืชสมุนไพร  ก็เป็นหนึ่งในแนวทางการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

พบว่าพืชสกุลมหาพรหมหลายชนิดมีสารเคมีทุติยภูมิที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง จึงเป็นที่น่าสนใจว่าต้นพรหมจุฬาภรณ์ก็อาจจะมีสารเคมีทุติยภูมิที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งและอาจพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งได้ในอนาคต ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งและพัฒนายาต้านมะเร็งเป็นหนึ่งในพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์   อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย










ข้อมูลอ้างอิง  :   https://www.technologychaoban.com/

โพสต์โดย : POK@