Social :



วิธีการปลูก และดูแลข้าวฟ่าง

04 เม.ย. 62 15:04
วิธีการปลูก และดูแลข้าวฟ่าง

วิธีการปลูก และดูแลข้าวฟ่าง

วิธีการปลูก และดูแลข้าวฟ่าง

ข้าวฟ่าง   เป็นธัญพืชที่มีความสำคัญเป็นอันดับ  5  ของโลก  รองลงมาจาก  ข้าวสาลี  ข้าว  ข้าวโพด  และ ข้าวบาร์เลย์  ข้าวฟ่าง มีการเพาะปลูกและแพร่กระจายอยู่ในเขตร้อน และเขตกึ่งร้อนของโลก อยู่ระหว่าง  เส้นรุ้งที่  45  องศาเหนือ ถึง  45  องศาใต้  ข้าวฟ่างมีการเจริญเติบโตได้ดีในเขตที่มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างต่ำ  ประมาณ  400-600  มิลลิเมตรต่อปี  มีการเพาะปลูกกันมากใน แอฟริกา  อินเดีย  จีน  แมกซิโก  ไนจีเรีย  ซูดาน  สหรัฐอเมริกา  ออสเตรเลีย  บางประเทศในยุโรปตอนใต้  และ ประเทศไทย  แต่ประเทศที่ผลิตข้าวฟ่างมากที่สุดของโลก  คือ  สหรัฐอเมริกา ผลิตได้  30 %  ของผลผลิตทั่วโลก  รองลงมา  ได้แก่  อินเดีย  และจีน 

ข้าวฟ่างเป็นที่รู้จักของคนไทยมาช้านาน  เกือบทุกภาคจะเรียกกันว่า  ข้าวฟ่าง  มีเพียงภาคใต้เท่านั้นที่เรียกว่า  คอรวง  ข้าวฟ่างเป็นพืชตระกูลหญ้าที่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากเมล็ด และลำต้น


1.ข้าวฟ่างใช้เมล็ด (grain  sorghum)   เป็นข้าวฟ่างที่ปลูกไว้เพื่อนำเมล็ดมาใช้ประโยชน์  โดยการแปรรูปเป็นอาหารของคนและสัตว์  ข้าวฟ่างประเภทนี้จะมีช่อขนาดใหญ่ เมล็ดโต  ลำต้นค่อนข้างเตี้ย  ผลผลิต
เมล็ดสูงกว่าข้าวฟ่างกลุ่มอื่น  ได้แก่  พันธุ์ KU  439  ,KU  526  ,KU  HI  8501  ,Hegari  ,Uthong  ,Pac  80  ,DK  54  ,CSH  6  เป็นต้น

2.ข้าวฟ่างหญ้า  (grass  sorghum)  เป็นข้างฟ่างที่ปลูกเพื่อใช้ลำต้นและใบในการเลี้ยงสัตว์  หรือ  ทำหญ้าหมัก  หญ้าแห้ง  ข้าวฟ่างจำพวกนี้จะมีใบเรียวเล็ก  แตกกอได้ดี สามารถตัดต้นให้สัตว์กินได้หลายครั้ง  ข้าวฟ่างที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้  ได้แก่  หญ้าจอห์นสัน  ,หญ้าโคลัมบัส  และ  ซูแดกซ์   ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างข้าวฟ่างกับหญ้าซูดาน 

3.ข้าวฟ่างหวาน  (Sorgo  or  sweet sorghum)  -  เป็นข้าวฟ่างที่มีน้ำหวานในลำต้น  นำมาใช้ทำน้ำเชื่อม  น้ำตาล  แอลกอฮอล์  หรือ ทำหญ้าเลี้ยงสัตว์  ได้แก่  ข้าวฟ่างพันธุ์ เรย์(Wray)  ธีส( Theis)  MN  1030  ,ริโอ (Rio)  และ แบรนเดส (Brandes)  ซึ่งมีความหวาน  19.3  ,16.4  ,15.2  ,16.4  และ  16.7  องศาบริกซ์  ตามลำดับ

4.ข้าวฟ่างไม้กวาด  (Broomcorn) -  เป็นข้าวฟ่างที่มีแขนงของช่อดอกยาวและออกดอกมาจากจุดเดียวกัน  จำนวนใบและเมล็ดต่อต้นน้อย ลำต้นแข็งแรง  ใช้ทำไม้กวาดได้ดี สำหรับประเทศไทยนั้นมีโรงงานผลิตไม้กวาดจากต้นข้าวฟ่างพันธุ์นี้อยู่ที่  ต.หนองสาหร่าย  อ.ปากช่อง  จ.นครราชสีมา  เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม  ผลิตไม้กวาดส่งขายในประเทศญี่ปุ่น  เกาหลี  และ ฮ่องกง

5.ข้าวฟ่างคั่ว  (Pop  sorghum)  เป็นข้าวฟ่างที่นำเมล็ดมาคั่วแบบเดียวกับ  pop  corn  ใช้รับประทานหรือทำเป็นส่วนประกอบของขนมหวาน  สำหรับข้าวฟ่างคั่วนี้  ประเทศไทยยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์


พันธุ์ข้าวฟ่างลูกผสมสีแดง 
ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกตามหลังข้าวโพด  ในเขตการปลูกข้าวโพดจังหวัดนครสวรรค์  ลพบุรี  และเพชรบูรณ์  ตามระบบการจำหน่ายเมล็ดพันธ์และการรับซื้อผลผลิตกลับคืน 

พันธุ์เฮกการีหนัก
เป็นข้าวฟ่างพันธุ์แท้ต้นสูง  เมล็ดใหญ่สีขาวขุ่น  กรมวิชาการเกษตร (กรมกสิกรรม)  แนะนำให้เกษตรกรปลูก  ตั้งแต่ปี  2506  โดยมีลักษณะเด่น  คือ  มีผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยประมาณ  400-600  กิโลกรัมต่อไร่  เมล็ดมีขนาดใหญ่  และมีความไวต่อช่วงแสงเหมาะสำหรับปลูกในปลายฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนกรกฏาคมถึงต้นเดือนกันยายน ปัจจุบันยังมีการปลูกในเขตจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา

พันธุ์เฮกการีเบา 
เป็นข้าวฟ่างพันธุ์แท้เมล็ดสีขาว  กรมวิชาการเกษตร(กรมกสิกรรม)  แนะนำให้เกษตรกรปลูกตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2506  โดยมีลักษณะเด่น  คือ  ต้นเตี้ยอายุสั้น  ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยประมาณ  400  กิโลกรัมต่อไร่  เหมาะสำหรับปลูก  ปลายฤดูฝน  มีปลูกในเขตจังหวัดกาญจนบุรี  แลชะสุพรรณบุรี

พันธุ์อู่ทอง 1 
เป็นข้าวฟ่างพันธุ์แท้ ต้นเตี้ย อายุสั้น เมล็ดสีเหลืองได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรในปี พ.ศ. 2525 มีลักษณะเด่น คือ ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ย 550 กิโลกรัมต่อไร่ มีความต้านทานต่อโรคราสนิม ไม่ต้านทาน โรคที่เกิดกับเมล็ด ทนแล้งได้ดี เหมาะสำหรับปลูกในปลายฤดูฝน ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม ถึงเดือนกันยายน เป็นพันธุ์ทนแล้งได้ดี

พันธุ์สุพรรณบุรี  60 
เป็นข้าวฟ่างพันธุ์แท้เมล็ดสีแดง  ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรในปี พ.ศ. 2530 มีลักษณะเด่น คือเป็นพันธุ์ต้นเตี้ย  อายุสั้น  เมล็ดมีปริมาณสารแทนนินต่ำ  มีปริมาณมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ  450-500  กิโลกรัมต่อไร่  เหมาะที่จะปลูกปลายฤดูฝนตั่งแต่เดือน  ก.ค. - ก.ย.

พันธุ์สุพรรณบุรี 1 
เป็นข้าวฟ่างพันธุ์แท้เมล็ดสีแดง  ได้รับการรับรองพันธ์จากกรมวิชาการเกษตร ในปี  พ.ศ.2536  มีลักษณะเด่น คือ ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ย  464  กิโลกรัมต่อไร่  ผลผลิตต้นสดเฉลี่ยประมาณ 4 ตันต่อไร่และผลผลิตเฉลี่ยประมาณ  2-3  ตันต่อไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวขณะที่เมล็ดอยู่ในระยะน้ำนมและเมื่อเก็บเกี่ยวต้นสดหลังเก็บเมล็ดแล้วตามลำดับ  ต้นสดมีปริมาณกรมไฮโดรไซยานิก  เฉลี่ยประมาณ  2.15  มิลลิกรัม  ต่อน้ำหนักสด  100  กรัม  มีโปรตีนประมาณ  9 %  ทำให้ลำต้นหวานประมาณ  15  องศาบริก  สามารถใช้เลี้ยงสัตว์ได้ 

ลักษณะพิเศษของข้าวฟ่าง :
1.ข้าวฟ่างเป็นพืชทนแล้งได้ดีกว่าข้าวโพด หากเทียบกับข้าวโพดจะพบว่าใบและข้าวฟ่างจะมีอาการเหี่ยวแห้งช้ากว่าข้าวโพดถึง  2  เท่า  จึงหาอาหารและน้ำได้ดีกว่าข้าวโพด และที่ใบของข้าวฟ่างยังมีสารคล้ายขี้ผึ้ง  เคลือบอยู่ที่ผิวใบและลำต้น  ช่วยลดการระเหยของน้ำออกจากลำต้นช้าลง  ทำให้มีการคายน้ำน้อย

2.ลักษณะต้นเตี้ย  ข้าวฟ่างบางพันธุ์ที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศและพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆ  มักจะมีลำต้นเตี้ย ทำให้คาร์โบไฮเดรต ที่สังเคราะห์ได้ไม่สูญเสียไปในการสร้างส่วนของลำต้นราก  ใบมากไป  เช่น  พันธุ์  Hegary  เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นสูง  ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ  แต่พันธ์ต้นเตี้ยจะมีสมรรถภาพในการให้ผลผลิตสูงขึ้น ปรุงอาหารได้ดีขึ้น เนื่องจากแสงแดดสามารถส่องถึงใบล่างและพื้นดินได้ดีกว่าพันธุ์ต้นสูง  ทำให้เกิดโรคทางดิน  โรคทางใบล่างๆ  น้อยลง  การเก็บเกี่ยวก็ทำได้โดยง่าย  เพราะต้นเตี้ยนั้นเหมาะสำหรับการใช้เครื่องมือเก็บเกี่ยวมากกว่าต้นสูง

3.อายุสั้น  การที่ข้าวฟ่างมีต้นเตี้ย  มีความสัมพันธ์ทางบวกกับอายุ ทำให้ข้าว่างมีอายุสั้น  สามารถปลูกได้หลายครั้งต่อปี  เป็นการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่  นอกจากนั้นการที่มีต้นเตี้ยยังเป็นการลดความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องของลำต้นหักงอได้อีกด้วย

4.ข้าวฟ่างทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ การปลูกพืชชนิดอื่นตามหลังข้าวฟ่างจะทำให้ผลผลิตลดลง ทั้งนี้ เพราะบริเวณรากข้าวฟ่างจะมีปริมาณน้ำตาลสูง และน้ำตาลดังกล่าวจะกลายเป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินบริเวณรากของข้าวฟ่าง ขณะที่รากข้าวฟ่างสลายตัว  หลังจากที่เราเก็บเกี่ยวข้าวฟ่างแล้วน้ำตาลที่รากข้าวฟ่างจะถูกใช้ไปและหมดลงในที่สุด  ทำให้จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่รอบๆ  รากข้าวฟ่างในขณะนั้นหันไปดึงอาหาร(N)  จากรากพืชชนิดอื่นที่นำมาปลูกต่อจากข้าวฟ่างมาใช้แทน  จึงทำให้ดินขาดธาตุ N ไประยะหนึ่ง  ในระ  1- 2  เดือน จะทำให้พืชดังกล่าว  ไม่เจริญเติบโต  เพราะขาด  N  วิธีการแก้ไขอาการขาดธาตุ  N  ในช่วงนี้สามารถทำได้โดยการเติมปุ๋ยสูตรที่มี  N  ลงไปในดินขณะที่มีการปลูกพืชใหม่ต่อจากแปลงข้าวฟ่าง 

5. ข้าวฟ่างที่มี Tannin สูง หรือมากกว่า 1% ของน้ำหนักเมล็ดเป็นผลดีในช่วงระยะน้ำนม สามารถป้องกันอันตรายจากนกได้ดี แต่ข้าวฟ่างที่มี Tannin ประกอบจะทำให้คุณภาพของโปรตีน วิตามิน และธาตุอาหารต่างๆ ลดลง


มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่นั้นไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด  สำหรับข้าวฟ่างพันธุ์พื้นเมืองของไทยคือ  “ข้าวฟ่างหางช้าง  ซึ่งชาวบ้านนิยมปลูกกันตามขอบรั้วรอบไร่  ปลายนา  เพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน  ไม่ได้ปลูกเพื่อการค้า 

ข้าวฟ่างหางช้าง  มีลำต้นสูง  2.5 - 3.0  เมตร  เมื่อแก่จัดลำต้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล  แตกกอได้ดี  ช่อดอกหลวม  เมล็ดกลมเล็ก  สีขาวนวล  กาบหุ้มเมล็ด  สีน้ำตาล  ทนทานต่อการหักล้ม  ปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย 

โดยทั่วไปเกษตรกรจะปลูกข้าวฟ่างเป็นพืชรอง 
MulticollaC
หลังจากปลูกพืชชนิดอื่นไปแล้ว  เช่น  หลังจากปลูกข้าวโพด  เกษตรกรจะปลูกข้าวฟ่างตามเมื่อคาดว่ายังมีฝนตกอยู่  อีกประมาณ  1-2  เดือน 

ประเทศไทยมีพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าวฟ่างประมาณ 9 แสนไร่(2539) แหล่งปลูกส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และ สระบุรี และยังพบว่ามีการเพาะปลูกข้าวฟ่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนืออยู่บ้าน สำหรับภาคใต้นั้นกลับไม่พบรายงานว่ามีการเพาะปลูกข้าวฟ่างเพื่อการค้า ผลผลิตข้าวฟ่างของประเทศนั้นนับว่ายังต่ำอยู่มาก คือ มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2 แสนตัน/ปี เท่านั้น

1. การเตรียมดินปลูกข้าวฟ่าง 
ข้าวฟ่างเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด  ในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำขัง  แต่ชนิดของดินที่ข้าวฟ่างสามารถเจริญเติบโตได้ดีที่สุดคือ  ดินร่วนปนทราย  ที่มีค่า  pH (ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน)อยู่ระหว่าง  5.5 - 7.5  และควรมีการเตรียมดินปลูกข้าวฟ่าง  ดังนี้

ไถดินให้มีความลึกประมาณ  12- 15  ซม.  ตากหน้าดินไว้  1-2  สัปดาห์  เพื่อเป็นการกำจัดแมลงและวัชพืชที่มีอยู่ในดิน จากนั้นทำการไถพรวนดินอีก  1-2  ครั้ง  เพี่อย่อยดินให้มีความละเอียดเหมาะสำหรับการงอกของต้นกล้า 

2.การใส่ปุ๋ยข้าวฟ่าง 
ในการปลูกพืชทุกชนิดให้สังเกตดูว่าดินที่ใช้ในการปลูกพืชนั้นมีความอุดทสมบูรณ์ของดินในระดับไหน หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี  มีอินทรียวัตถุในดินสูงก็ไม่ควรใส่ปุ๋ย เพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์  แต่ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ  ควรมีการปรับปรุงดินโดยการเติม  ปุ๋ยคอก  หรือ ปุ๋ยหมักลงดินเพื่อเป็นการปรับสภาพดินให้ดียิ่งขึ้น 

ในการปลูกข้าวฟ่างควรใส่ปุ๋ยสูตร  16-20-0  ในอัตรา  30 – 50  กก./ไร่  รองพื้นขณะเตรียมดิน

3. การปลูกข้าวฟ่าง 
ปลูกโดยการหว่านเมล็ด 
เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมกันมากในปัจจุบัน  เพราะใช้แรงงานน้อยภายในเวลาอันรวดเร็ว  ทั้งนี้ผู้หว่านจะต้องมีความชำนาญพอสมควร  จึงจะสามารถหว่านให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายลงพื้นได้อย่างสม่ำเสมอ  และใช้เมล็ดพันธุ์ไปในจำนวนที่พอเหมาะ คือ  1.5 – 2  กก.  ต่อไร่  แต่สำหรับข้าวฟ่างบางสายพันธุ์จำเป็นต้องใช้เมล็ดพันธุ์ในการหว่านสูง เพื่อให้ได้ผลผลิตดี  เช่น  พันธุ์สุพรรณฯ 1  จะใช้เมล็ดพันธุ์  2.5  กก./ไร่  และ พันธุ์ลูกผสมอย่าง  Pacific  801  ที่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ในการหว่านสูงถึง  3.5  กก. /ไร่  จึงจะได้ผลผลิตที่เหมาะสม 

ปลูกแบบโรยเป็นแถว
สำหรับการปลูกแบบเป็นแถวจะต้องให้มีระยะห่างระหว่างแถว  65  ซม. ถึงจะได้ผลดี วิธีนี้ทำโดยการปลูกโดย  หลังจากการเตรียมดินแล้วให้ทำการเปิดร่องปลูกให้ลึก ประมาณ 5 ซม.  จากนั้นโรยเมล็ดพันธุ์ลงไปในร่องให้เป็นแถวแล้วกลบหน้าดิน  เมื่อข้าวฟ่างอายุได้  20  วันให้ทำการถอนแยกต้นที่มีลักษณะที่ไม่แข็งแรงออก  ให้ได้ระยะระหว่างต้น  10  ซม. 

การปลูกแบบเป็นหลุม
วิธีนี้ ทำได้โดยการการขุดหลุมที่ได้จากการเตรียมดินให้มีความลึก  ประมาณ  5  ซม.  ระยะห่างระหว่างหลุม  30  ซม.  และระยะห่างระหว่างแถว  65  ซม.  ปลูกหลุมละ  3  ต้นแล้วกลบหน้าดิน

การปลูกโดยใช้เครื่องจักร
ใช้เครื่องปลูกข้าวฟ่างติดท้ายรถแทรกเตอร์  กำหนดระยะระหว่างแถวและจำนวนเมล็ดที่จะหลูกลงแปลงในแต่ละแถว  เมื่อทำการปลูก  จะต้องตรวจสอบเสมอว่าเมล็ดพันธุ์ลงในดินสม่ำเสมอหรือไม่  วิธี้เหมาะสำหรับการหปลูกในแปลงขนาดใหญ่

แหล่งปลูกข้าวฟ่างที่เหมาะสม 
โดยทั่วไปข้าวฟ่างเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด  ตั้งแต่ดินทราย  ดินร่วนปนทราย  จนถึงดินเหนียว  แต่ดินที่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าวฟ่างให้ได้ผลผลิตสูง  ควรเป็นดินร่วนเหนียวที่มีการระบายน้ำดี มีความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง  5.0-7.5

อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและสร้างเมล็ดของข้าวฟ่างจะอยู่ระหว่าง  27-30  องศาเซลเซียส  ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้  จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการสร้างเมล็ด

ข้าวฟ่างต้องการปริมาณน้ำฝนตลอดฤดูปลูกประมาณ  320-500  มิลลิเมตร  โดยเฉพาะในช่วงที่ข้าวฟ่างตั้งท้อง  ดอก  บาน  และเมล็ดในระยะเป็นน้ำนมถ้าขาดน้ำในช่วงเหล่านี้จะมีผลต่อการติดเมล็ด ขนาดเมล็ดจึงมีผลกระทบต่อผลผลิตเป็นอย่างมาก  ความต้องการน้ำของข้าวฟ่างจะลดลงในระยะที่เมล็ดเริ่มแก่จนถึงเก็บเกี่ยว 

นอกจากนี้ข้าวฟ่างไม่ทนทานต่อสภาพน้ำขังในช่วงแรกของการเจริญเติบโต  (ระยะกล้า)  จะพบว่า ข้าวฟ่างมีใบ  เหลืองต้นแคระแกร็น  และอาจตายไปในที่สุด 

แหล่งปลูกที่สำคัญ  ได้แก่  ลพบุรี  เพชรบูรณ์  นครสวรรค์  สระบุรี  สุพรรณบุรี

การปลูกข้าวฟ่างเพื่อให้ได้ผลผลิตเมล็ดสูง  :  ควรปลูกในปลายฤดูฝน หรือตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน  สำหรับการปลูกข้าวฟ่างครั้งเดี่ยวที่ต้องการปลูกเพื่อตัดต้นสดในรุ่นแรก  และเก็บเกี่ยวเมล็ดในข้าวฟ่างต่อ  ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤษภาคม  จนถึงเดือนมิถุนายน 

การปลูกข้าวฟ่างเพื่อเก็บเมล็ดอย่างเดียว  ควรพิจารณาดูว่าต้นข้าวฟ่างจะไม่ขาดความชื้นสำหรับการเจริญเติบโตจนถึงระยะที่ดอกข้าวฟ่างบาน 

การดูแลรักษา : 
เมื่อข้าวฟ่างงอกได้ประมาณ  2  สัปดาห์  ถ้าต้นข้าวฟ่างในแปลงจำนวนหนาแน่นเกินไปให้ถอนแยกให้เหลือประชากร  10  ต้นต่อความยาว  1  เมตร  ในกรณีที่แปลงปลูกมีน้ำท่วมขัง  ให้ทำการระบายน้ำออกจากแปลงปลูกเพราะในสภาพน้ำท่วมขังแปลง  จะทำให้ต้นข้าวฟ่างไม่เจริญเติบโต  มีผลทำให้ต้นข้าวฟ่างมีขนาดเล็กและช่อข้าวฟ่างมีขนาดเล็ก  หรือตาย ได้ในที่สุด


การป้องกันกำจัดวัชพืช :
การไถพรวนดินเพื่อเตรียมดินปลูกข้าวฟ่าง  เป็นวิธีการหนึ่งที่ป้องกันการรบกวนจากวัชพืช  แต่ถ้ายังมีวัชพืชอยู่มากอาจจะใช้สารกำจัดวัชพืช  เช่น  อาทาซีนฉีดพ่นในอัตรา 350 - 400  กรัม/ไร่  ภายหลังจากปลูกข้าวฟ่างเสร็จแล้ว  และดินยังคงมีความชื้นอยู่  เพื่อควบคุมวัชพืชไม่ให้งอกขึ้นมารบกวนข้าวฟ่างขณะที่ต้นยังเล็กอยู่  ซึ่งเป็นช่วงที่พืชปลูกจะอ่อนแอต่อการแข่งขันกับพืชอื่น  หรือจะใช้การทำรุ่น(ดายหญ้า)  เมื่อข้าวฟ่างมีอายุ  1  เดือนเป็นต้นไป

การเก็บเกี่ยว : 
เมื่อเมล็ดข้าวฟ่างมีการสุกแก่เต็มที่แล้วเมล็ดจะมีลักษณะแข็ง  สีเข้ม  ก้านช่อเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล  ลำต้นและใบเริ่มแห้งแสดงว่าสามารถเก็บเกี่ยวได้  โดยใช้มีดหรือเคียวตัดที่ก้านช่อดอก  จากนั้นนำไปตากประมาณ  2-3  วัน  จึงค่อยทำการกะเทาะเปลือกหรือสีเอาเมล็ดออกจากรวง  ขณะที่กะเทาะเมล็ดนั้นเมล็ดควรมีความชื้นประมาณ  15% อย่างไรก็ตาม  น้ำหนักแห้งของข้าวฟ่างจะสูงที่สุด  จะอยู่ที่ระยะสุกแก่เต็มที่  แต่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องยากที่จะทำการตรวจสอบและปฏิบัติตาม

ประโยชน์ของข้าวฟ่าง 
- ข้าวฟ่าง  ธัญพืชมากด้วยคุณประโยชน์  เพราะอุดมไปด้วยเส้นใย  เป็นอาหารที่ย่อยง่าย  มีสารโปรตีนในปริมาณใกล้เคียงกับถั่วเหลือง  อีกทั้งมธาตุแมกนีเซียม  โพแทสเซียม และวิตามินบี3  สูง

- ข้าวฟ่างมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ ข้าวฟ่างสำหรับเลี้ยงสัตว์ มีลักษณะเป็นเมล็ดกลมใหญ่ สีขาวและสีแดง เนื้อแข็ง อีกชนิดหนึ่งคือข้าวฟ่างสำหรับให้คนรับประทาน มีขนาดเล็กกว่า สีเหลืองปนน้ำตาล เมล็ดที่เล็กมากจะเป็นสีเหลืองเท่านั้น

- การรับประทานข้าวฟ่างเป็นประจำจะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานป้องกันโรคภูมิแพ้  นำมาทำเป็นกับข้าว  อาหารว่าง  และขนมหวานได้อร่อย  คนรุ่นก่อนนิยมนำข้าวฟ่างมาทำเป็นขนมหวานที่มีชื่อว่า  "ข้าวฟ่างเปียก"  รับประทานกันเพราะมีรสหวาน  ราดด้วยหัวกะทิรสเค็มมัน  โดยเลือกใช้ข้าวฟ่างเมล็ดเล็กสีเหลืองมาต้มจนสุกนุ่ม  ใส่น้ำตาลแล้วต้มจนน้ำตาลละลาย  จึงใส่แป้งมันละลายน้ำ  ต้มจนแป้งสุกใส

- สำหรับข้าวฟ่างที่จะนำมาทำกับข้าวนั้น เลือกใช้ข้าวฟ่างสีเหลืองปนน้ำตาล  ซึ่งจะมีเนื้อแป้งมากกว่าเมล็ดสีเหลืองเล็ก ก่อนลงมือปรุงอาหารจากข้าวฟ่างจำเป็นต้องล้างเอาเศษฝุ่นละอองออกให้หมด  ต้มด้วยไฟอ่อนจนข้าวฟ่างสุกอุ้มน้ำดี  ข้าวฟ่างจึงจะสุกนุ่มและนำไปทำอาหารจานต่างๆ  ได้โดยเลือกอาหารที่มีรสเข้มข้น  เพราะตัวข้าวฟ่างมีรสมัน  เมื่อรับประทานร่วมกับเครื่องปรุงอื่นในอาหารจานนั้นจะช่วยให้ข้าวฟ่างมีรสอร่อยขึ้น เช่น ทำเป็นยำรสจัด แกงกะทิรสเข้มข้น  ซึ่งทำได้ทั้งแกงคั่ว  แกงเผ็ด  เพราะกะทิที่มีความมันทำให้เนื้อข้าวฟ่างนุ่มมากยิ่งขึ้น

- ข้าวฟ่างหาซื้อได้ตามร้านอาหารเพื่อสุขภาพหรือตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ  เลือกซื้อข้าวฟ่างที่สะอาด  ไม่มีสิ่งสกปรกอื่นๆ  ปนมามาก  เมื่อใช้ไม่หมดให้เทออกจากถุงใส่ไว้ในขวดโหล  ปิดฝาให้สนิทจะเก็บไว้ได้นาน

- ใช้ทำเป็นของหวาน  เช่น  ข้าวตอกน้ำกะทิ

- ใช้แทนแป้งสาลีได้  ถึง 70% 

- ใช้ผลิตแอลกอฮอล์ (ข้าวฟ่างหวาน)

- ใช้ลำต้นในการเลี้ยงสัตว์




ข้อมูลอ้างอิง  :   https://www.rakbankerd.com/



โพสต์โดย : POK@