Social :



“พระบรมธาตุนาดูน” ใจกลางพระพุทธศาสนา...ท่ามกลางศรัทธาของผู้คน…

05 ส.ค. 59 18:31
“พระบรมธาตุนาดูน” ใจกลางพระพุทธศาสนา...ท่ามกลางศรัทธาของผู้คน…

“พระบรมธาตุนาดูน” ใจกลางพระพุทธศาสนา...ท่ามกลางศรัทธาของผู้คน…

พระบรมธาตุนาดูน
ใจกลางพระพุทธศาสนา...ท่ามกลางศรัทธาของผู้คน

 



สถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ตกทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน สามารถบ่งบอกถึงความเป็นมาในอดีตได้อย่างแจ่มชัด ไม่ผิดไปจากคำกล่าวนี้แน่นอน ! เพราะเรื่องราวต่างๆ ที่ถูกบ่มเพาะด้วยกาลเวลามักจะกลายเป็นสิ่งล้ำค่าของคนในยุคปัจจุบัน ที่ควรค่าแก่การศึกษา ดูแลรักษา ทะนุบำรุงให้คงอยู่สืบไปตราบนานเท่านาน...เลาะรั้ว อปท . ฉบับนี้เราเดินทางลัดเลาะสู่ภาคอีสาน ไปยังเมืองที่เต็มไปด้วยความงดงามทางโบราณสถาน โบราณวัตถุ และความล้ำค่าทางพุทธศาสนา...

 

มหาสารคาม เมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวในอดีตและความงดงามทางด้านศาสนา ที่ตกทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันได้อย่างลงตัว...เมืองที่เต็มไปด้วย ศรัทธา ของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ...ศรัทธาที่เกิดจากความเลื่อมใสในศาสนาและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของผู้คน...เรื่องราวของ พระบรมธาตุนาดูน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พุทธมณฑลอีสาน แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวในปัจจุบันที่สานต่อพุทธศาสนาในอดีตได้อย่างลงตัว

 

เรามาลองหมุนเข็มนาฬิกานับถอยหลัง บอกเล่าถึงเรื่องราวของพระบรมธาตุนาดูนในอดีตกันสักนิดว่ามีความเป็นมาอย่างไร...

 


           


ย้อนกลับไปเมื่อปีพุทธศักราช 2522 เมื่อครั้งกรมศิลปากรและชาวบ้านในตำบลนาดูนได้ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุจากเนินดินที่เป็นซากโบราณสถาน บริเวณหมู่ที่ 1 ต.นาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุมีสัณฐานดังเกล็ดแก้วประดิษฐานในผอบ 3 ชั้น...ชั้นในเป็นทองคำ ชั้นกลางเป็นเงิน ชั้นนอกเป็นสำริด ซ้อนเรียงกันตามลำดับ และบรรจุอยู่ในสถูปจำลองอีกชั้นหนึ่ง เป็นสถูปโลหะทรงกลม สูง 24.4 เซนติเมตร ถอดออกเป็น 2 ส่วน ส่วนยอดสูง 12.3 เซนติเมตร ส่วนองค์สถูปสูง 12.1 เซนติเมตร ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 สมัยทวารวดี

 

และในราวพุทธศตวรรษที่ 13-16 นั้น ภายในตัวเมืองและนอกเมืองจำปาศรีมีเจดีย์สมัยทวารวดีอยู่ 25 องค์ (ขณะนี้ได้ขุดค้นพบแล้ว 10 องค์) เจ้าผู้ครองเมืองนครจำปาศรี นับตั้งแต่พระเจ้ายศวรราช ได้สร้างสถานที่สักการบูชาในพิธีทางศาสนาพราหมณ์และพุทธ เช่น เทวาลัย ปรางค์กู่ ซึ่งถือว่าเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านศาสนา วัฒนธรรม และการปกครองจนถึงขีดสุด จากนั้นก็ได้เสื่อมถอยลงมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงยุคอวสานในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี

 

และการขุดพบพระบรมสารีริกธาตุครั้งนั้น ชาวบ้านถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีแก่ชาว จ.มหาสารคาม จึงสมควรยิ่งแก่การสร้างพระสถูปเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เป็นปูชนียสถาน เพื่อความเป็นสิริมงคล และสืบทอดพระบวรศาสนาตามแนวทางบรรพชนต่อไป จึงได้มีการจัดสร้างสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเรียกว่า พุทธมณฑลอีสาน ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา เจดีย์พระบรมธาตุนาดูนมีลักษณะประยุกต์จากสถูปจำลองที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กับลักษณะแบบทวารวดี ออกแบบและดำเนินการสร้างโดยกรมศิลปากร มีความสูง 50.50 เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 35.70 เมตร

 

อีกทั้งบริเวณดังกล่าวยังมีการสร้าง

MulticollaC
ศูนย์พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมจำปาศรี เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับอาณาจักรจำปาศรี เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวคือศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองในอดีต ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวนาดูน รวมไปถึงชาว จ.มหาสารคาม ที่ได้เกิดบนดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาในอดีต อำเภอนาดูนในวันนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางพระศาสนาอย่างเช่นนครจำปาศรีในอดีตเมื่อ 1 , 300 ปีมาแล้ว

 

แน่นอน ! การได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางของศาสนามาตั้งแต่ยุคสมัยในอดีต สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน...เมื่อครั้งสมัยบรรพบุรุษได้สร้างไว้...คนสมัยปัจจุบันก็ต้องสานต่อ เพื่อดำรงไว้ให้อยู่คู่กับสังคมไปตราบนานแสนนาน...

 

การจัดงานนมัสการพระบรมธาตุนาดูน ก็เป็นอีกกิจกรรมทางศาสนาที่ช่วยส่งเสริมและทะนุบำรุงศาสนาให้คงอยู่ เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไปได้ศึกษาและเรียนรู้ความเป็นมาของศาสนาในยุคสมัยทวารวดีที่สืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งกิจกรรมในแต่ละปีนั้นจะจัดขึ้นในช่วงวันมาฆบูชา กำหนด 9 วัน 9 คืน โดยทางจังหวัดร่วมกับคณะสงฆ์ สำนักพระพุทธศาสนา รวมไปถึงข้าราชการ พนักงานของรัฐ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ร่วมกิจกรรมปฏิบัติธรรม ณ ลานหน้าบริเวณโดยรอบองค์พระบรมธาตุนาดูน

 

ในวันแรกจะมีกิจกรรมขบวนแห่ประเพณี 12 เดือนของชาวอีสาน มีการแสดง แสง สี เสียง ประวัติเมืองนครจำปาศรี การขุดพบโบราณวัตถุ การขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ พระพิมพ์ดินเผา และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระบรมสารีริกธาตุ และในวันมาฆบูชาจะมีการตักบาตร ทำบุญ ประกอบพิธีทางศาสนา...

 

การได้อยู่ท่ามกลางเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางศาสนาและชาติพันธุ์ ห้อมล้อมไปด้วยศาสนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และมนต์เสน่ห์ที่อบอวลไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ในอดีต ผสมผสานกับปัจจุบันอย่างลงตัว ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก...เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนทุกคนควรแสวงหาและเดินทางไปเยี่ยมชม กราบนมัสการขอพร เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และศึกษาถึงความเป็นมาของสถานที่ที่เรียกได้ว่าเป็นใจกลางของศาสนา พระบรมธาตุนาดูน สักครั้งหนึ่งในชีวิต !

 


 

 

เล่าเรื่อง...นครจำปาศรี

นครจำปาศรี มีประวัติอันยาวนานนับเป็นพันปี และได้ถูกเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เนื่องจากวิกฤตการณ์หรือเหตุผลใดก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีเค้าโครงพอที่จะสืบค้นถึงความเป็นมาได้บ้าง จากหลักฐานทางโบราณคดี เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยเฉพาะใน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นที่ตั้งนครจำปาศรีเมื่อครั้งอดีต มีโบราณสถานหลายแห่ง และมีโบราณวัตถุหลากหลายชนิด สามารถสอบค้นและเปรียบเทียบอายุ สมัย ลักษณะเผ่าพันธุ์ ตลอดจนการดำรงชีพ ขนบธรรมเนียมประเพณีของบรรพชนในถิ่นแถบนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นตำราเอกสารอื่นๆ พอที่จะอ้างอิงเทียบเคียงได้

 

และผลการศึกษาขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี ยังพบข้อมูลที่สำคัญว่า เนินดินขนาดใหญ่เคยเป็นแหล่งฝังศพของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซากสถูปพระพิมพ์สมัยทวารวดี และศาสนสถานก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมขอมที่แพร่เข้ามาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 ได้แก่ ศาลานางขาว กู่น้อย และกู่สันตรัตน์ และที่เป็นโบราณวัตถุได้แก่ รูปเคารพในศาสนาฮินดู เช่น ประติมากรรมรูปพระศิวะ รูปพระนารายณ์จากกู่น้อย ศิลาจารึกจากศาลานางขาว เนื้อความกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และพระพุทธรูปในคติมหายานจากกู่สันตรัตน์

 

เมื่อประมวลเรื่องราวจากหลักฐานเหล่านี้ สันนิษฐานได้ว่าเมืองโบราณนครจำปาศรีเคยเป็นชุมชนที่มีผู้คนอาศัยสร้างบ้านเมืองสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18 จึงร้างไป

 

 


การเดินทาง

การเดินทางไปยังพระบรมธาตุนาดูน ไปได้จากตัวเมืองมหาสารคาม โดยใช้เส้นทางหมายเลข 2040 ผ่าน อ.แกดำ อ.วาปีปทุม แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทาง 2045 ถึง อ.นาดูน ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 65 กิโลเมตร

 


เรียบเรียงโดย topicza.com

โพสต์โดย : ครองแครง