Social :



เคาะเยียวยาม.39-40 รายละ 5 พันบาท 29 จังหวัดสีแดงเข้ม พม.แจกอีก3,000บาท เปิดยื่นออนไลน์

11 ส.ค. 64 08:08
เคาะเยียวยาม.39-40 รายละ 5 พันบาท 29 จังหวัดสีแดงเข้ม พม.แจกอีก3,000บาท เปิดยื่นออนไลน์

เคาะเยียวยาม.39-40 รายละ 5 พันบาท 29 จังหวัดสีแดงเข้ม พม.แจกอีก3,000บาท เปิดยื่นออนไลน์

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยอดติดเชื้อยังสูง รัฐบาลต้องออกมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ล่าสุดนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ว่า ครม.อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับปรุงรายละเอียดสาระสำคัญของโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้ 1.เปลี่ยนชื่อโครงการเป็นโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง 2.ขยายพื้นที่ดำเนินการจาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด โดยเพิ่มเติม 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง

นายอนุชากล่าวต่อว่า 3.กรอบวงเงินโครงการ จากเดิม 15,027.6860 ล้านบาท เป็น 17,050.4145 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,022.7285 ล้านบาท 4.ขยายระยะเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัด (ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28) และ 16 จังหวัด (ข้อกำหนด ฉบับที่ 30) สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ โดย สปส.จะตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจนถึงวันที่ 24 สิงหาคมนี้

อนุมัติ3.3หมื่นล. ม.39-ม.40ž
นายอนุชากล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบกรอบวงเงิน 33,471.0050 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 5,000 บาท รวมทั้งสิ้น 6,694,201 คน โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้ 1.พื้นที่ดำเนินการ 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี กลุ่มเป้าหมายรวมประมาณ 6,694,201 คน การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 จะโอนเงินให้กับผู้ประกันตนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) เฉพาะที่ผูกบัญชีกับเลขประจำตัวประชาชน

นายอนุชากล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ให้กระทรวงแรงงานจัดทำข้อเสนอขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายที่รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ 13 จังหวัดเพิ่มเติมอีกจำนวน 1 เดือน ซึ่งจะช่วยให้การให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

สปส.โอนเงินนายจ้าง ม.33 แล้ว
น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ และผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้มรวม 13 จังหวัด ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
MulticollaC
โดยให้มีจ่ายเยียวยาให้กลุ่มผู้ประกอบการนายจ้างมาตรา 33 จำนวน 3,000 บาท สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ซึ่ง สปส.พร้อมเริ่มโอนเงินงวดแรกในวันนี้ (10 ส.ค.) ให้นายจ้าง 13 จังหวัดสีแดงเข้ม เป็นเงิน 94,719,000 บาท ซึ่ง สปส.จะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ผูกหมายเลขบัตรประชาชน สำหรับนายจ้างเป็น บุคคลธรรมดา ส่วนกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากตามที่นายจ้างได้แจ้งกับ สปส.

ไม่เห็นด้วยหว่านแจกนายจ้าง
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 โดยคาดว่าประเทศไทยน่าจะฟื้นตัวได้เต็มที่ในปี 2566 หรืออย่างเร็วที่สุดคือช่วงไตรมาสที่ 1-2 ของปี 2565 และจากการที่หลายๆ ประเทศห้ามคนไทยเดินทางเข้า สะท้อนให้เห็นว่าไทยกำลังมีปัญหาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่เห็นชัดคือ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ที่ปิดตัวไปจำนวนมาก กระทบไปถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานบันเทิง ร้านอาหารที่กึ่งสถานที่ท่องเที่ยว ก็เริ่มมีข่าวการปิดและขายกิจการ

“การประกาศล็อกดาวน์ ห้างปิดๆ เปิดๆ กำลังซื้อของคนในประเทศที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ในกลุ่มนี้หมดความหวังว่าจะฟื้นตัว ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน น่าจะมีอีกหลายกิจการปิดกิจการถาวร ส่วนที่อยู่ได้ก็คงเป็นรายใหญ่จริงๆ ที่มีทุนจำนวนมากพอ” นายธนิตกล่าว

นายธนิตกล่าวว่า ส่วนเรื่องของการเยียวยาจากภาครัฐนั้น ถือว่าดีกว่าไม่มีเลย แต่ที่ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายเยียวยาให้นายจ้าง เพราะทำเหมือนการเหวี่ยงแห ทุกธุรกิจได้รับความช่วยเหลือทั้งหมด เมื่อผู้ประกอบการ 1 รายยื่นขอเยียวยา มีจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน จะได้รับเยียวยา 3,000 ต่อหัว รัฐบาลจ่ายเงินส่วนนี้เป็นจำนวน 6 หมื่นล้านบาท ทั้งที่บางรายก็ไม่ได้ปิดกิจการแต่ได้เงินไปด้วย เหมือนได้รับเงินพิเศษเพิ่มขึ้น ดังนั้น น่าจะมีการคัดกรองจ่ายให้กับนายจ้างในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือถูกสั่งปิดกิจการจริงๆ มากกว่า

พม.แจกอีกเงิน3,000บาท
นายสุทธิ จันทรวงษ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดบริการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือออนไลน์ ให้ประชาชนที่รายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ ไม่มีงานทำ ป่วยเป็นโรคร้ายแรงและเดือดร้อนในสถานการณ์โควิด-19 สามารถขอเงินอุดหนุนสงเคราะห์ได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 3 ครั้งต่อปีว่า บริการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ พส.ได้ทำอยู่แล้ว เพียงแต่มาปรับรูปแบบการให้บริการ จากเดิมที่ประชาชนต้องวอล์กอินเข้ามาขอความช่วยเหลือกับหน่วยงาน พม. เป็นการให้บริการออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ายื่นคำขอมาแล้วจะได้ทุกคน เพราะจะมีการคัดกรองจากนักสังคมสงเคราะห์ พิจารณาให้เฉพาะผู้มีคุณสมบัติ ได้แก่ เป็นผู้ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ด้วยเหตุที่หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต ทอดทิ้ง สาบสูญ หรือต้องโทษจำคุก เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือพิการไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ประสบปัญหายากลำบากไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ และคนไร้ที่พึ่ง ช่วยเหลือเงินครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งหลักเกณฑ์การช่วยเหลือขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของนักสังคมสงเคราะห์ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย โดยประชาชนสามารถยื่นคำขอรับบริการในเว็บไซต์ http://www.dsdwservice.dsdw.go.th/Petitions/Petition

แห่ยื่นขอรับอื้อ-เผยข้อมูลไม่ครบ
นางสาวซาราห์ บินเย๊าะอง อธิบดีกรม พส. กล่าวว่า ขณะนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหมู่ประชาชน ว่าบริการดังกล่าวหากยื่นคำขอมาจะได้เงิน 3,000 บาททุกคน และยังได้ต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 9,000 บาท พส.อยากปรับความเข้าใจว่าไม่ใช่อย่างนั้น บริการนี้ให้เฉพาะกลุ่มที่มีคุณสมบัติ และอาจได้ 2,000 บาท หรือ 3,000 บาทก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพความเดือดร้อน อย่างไรก็ดี หลังจากมีการประชาสัมพันธ์บริการออกไป มีประชาชนให้ความสนใจยื่นคำขอมาจำนวนมาก แต่จากการตรวจสอบพบปัญหาว่า ประชาชนหลายคนกรอกข้อมูลมาไม่ครบ เช่น เบอร์โทรศัพท์ไม่ครบ กรอกที่อยู่ไม่ละเอียด ฯลฯ ฉะนั้นขอให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนส่ง โดยเฉพาะที่อยู่ต้องกรอกละเอียดถึงตรอกซอกซอย จุดสังเกต เพื่อให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และนักสังคมสงเคราะห์ลงพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วต่อไป

ขอบคุณที่มา  ข่าวมติชน

โพสต์โดย : ปลายน้ำ