Social :



เที่ยวบ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย

06 มิ.ย. 60 08:06
เที่ยวบ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย

เที่ยวบ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย

     ความสุขในการท่องเที่ยวของหลายคนอาจมีหลายแบบ บางคนสุขที่ได้เที่ยวได้พักในแบบหรูหรา กินดี นอนสบาย แต่บางคนก็สุขไปกับการได้เที่ยวแบบง่ายๆแค่ได้อยู่กับความเป็นธรรมชาติในแบบที่ไม่ต้องหรูหรามากมาย เหมือนกับที่ไปด้วยกันได้ไปสัมผัสมาที่ บ้านนาต้นจั่น  เป็นความสุขในราคาหลักร้อยที่ใครก็มาสัมผัสได้ไม่ยากซึ่งจะขอเรียกความสุขของนี้ว่า ความสุขแบบบ้านทุ่งสไตล์  

 

cover2

 

บ้านนาต้นจั่น ตั้งอยู่ในอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยประมาณ 14 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นระหว่างทางสามารถแวะเที่ยวที่อุทยานฯก่อนได้ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มีโบราณสถานทั้งหมด 215 แห่ง  แต่โบราณสถานที่โดดเด่นและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ก็คือ  เสียค่าเข้าชมคนละ 20 บาท นำรถเข้าไปคันละ 50 บาท โบราณสถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมีอยู่หลายจุดที่เด่นๆจะมี วัดช้างล้อม  ซึ่งมีเจดีย์ประธานทรงลังกาตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้น ยืนหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบ จำนวน 39 เชือก และช้างที่อยู่ตามมุมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ ตกแต่งเป็นช้างทรงเครื่อง มีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขา และข้อเท้า

 

DEW_1917

DEW_1921

 

ตรงข้ามกับวัดช้างล้อม คือ  วัดเจดีย์เจ็ดแถว นับว่ามีความสวยงามมากอีกวัดหนึ่ง เพราะมีเจดีย์แบบต่าง ๆ กันมากมายที่เป็นศิลปะ สุโขทัยแท้ และเป็นศิลปะแบบศรีวิชัยผสมสุโขทัย สาเหตุที่เรียกว่า วัดเจดีย์เจ็ดแถวเนื่องจากได้พบเจดีย์จำนวนมากหลายแถวภายในวัด และสมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระราชวงศ์สุโขทัย

 

DEW_1867

DEW_1881

DEW_1874

 

พระเจดีย์ที่อยู่ด้านหน้ามีพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยดูโดดเด่นงดงาม

 

DEW_1891

 

เราเลือกเก็บภาพความงามผ่านชัตเตอร์ แต่น้องกลุ่มนี้มานั่งวาดภาพเก็บความงามของผ่านปลายดินสอและพู่กัน การเก็บภาพเรื่องราวอาจมีวิธีที่แตกต่างกันแต่เราเชื่อว่าทุกคนย่อมมีความสุขในแบบวิถีของตนเอง

 

DEW_1896

 

บ่ายแก่ๆ เรามุ่งหน้าไปยังโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น  จากอุทยานฯใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงมาถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตรงร้านข้าวเปิ๊บ ซึ่งเป็นจุดแรกที่ทุกคนต้องผ่าน เรานัดกับพี่แหม่มผู้ประสานงานเพื่อพาเราไปยังที่พัก

 

 

ตรงข้ามกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีร้านขายเครื่องดื่ม โกโก้ ชาเขียว ชาเย็น กาแฟ ซึ่งได้ลองชิมแล้วขอบอกว่าเครื่องดื่มแต่ละอย่างรสชาติอร่อยไม่ผิดหวัง

 

 

บ้านนาต้นจั่น  เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเชิงอนุรักษ์ ได้ท่องเที่ยวสัมผัสกับธรรมชาติแบบครบวงจร  โดยได้จัดเป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้มาพักร่วมกับเจ้าของบ้านทำกิจกรรมร่วมกันเรียนรู้วิถีชีวิตตามชุมชน  โดยคิดราคาแค่คนละ 500 บาท รวมที่พัก อาหารเย็นและอาหารเช้า พร้อมพาชมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน  บ้านพักโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่นมีประมาณ 30 หลัง กระจายกันไปตามแต่ละจุดในหมู่บ้าน  เราบอกพี่แหม่มว่าอยากพักที่ บ้านไร่ชายเขา เพราะได้เห็นภาพตามสื่อต่างๆแล้วชอบในบรรยากาศ พี่แหม่มเลยจัดให้ตามที่ขอ หน้าบ้านมีป้ายชื่อตั้งอยู่ท่ามกลางต้นข้าวสีเขียวสลักด้วยข้อความแสนเก๋ฮักน่ะนาต้นจั่น  ในช่วงหน้าหนาวพี่แหม่มบอกว่าพื้นที่ตรงนี้จะเปลี่ยนเป็นปลูกต้นทานตะวันแทน

 

2 DEW_1945

 

บ้านไม้ชายเขา เป็นบ้านไม้ที่สร้างแบบเรียบง่าย  ไม่มีแอร์ แต่มีทีวี ตู้เย็น  มีห้องครัวเล็กๆอยู่ด้านหลังบ้าน ในบ้านมี 2 ห้อง พักได้ห้องละ 4 คน  ชานบ้านข้างนอกเป็นแบบเปิดมีมุ้งและสามารถนอนได้ประมาณ 4 คน ใครอยากรับอากาศแบบธรรมชาติก็ออกมานอนกางมุ่งข้างนอกได้ ต้องบอกก่อนว่าที่นี่ถ้าไม่ใช่ช่วงที่ฝนตกหรือฤดูหนาวอากาศค่อนข้างร้อนมาก ไม่ค่อยมีลมพัดเท่าไหร่ ปี้นี้ค่อนข้างแล้งด้วย ขนาดเราเดินทางไปในช่วงกลางเดือน ก.ค. ก็ยังร้อนเหงื่อออกตลอดเวลา  เพราะฉะนั้นหากใครขี้ร้อนก็ไม่แนะนำให้มาในช่วงหน้าร้อนที่คาบเกี่ยวกับฤดูฝน  ควรมาเที่ยวในช่วงที่ฝนตกมากๆหรือไม่ก็หน้าหนาว แต่ถ้ามาในหน้าหนาวก็จะไม่มีนาข้าวให้ชม

 

 

มุมเก้าอี้น่ารักริมระเบียงสำหรับนั่งพักผ่อน  เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งมีเพียงไม่กี่ชิ้นเป็นแบบบ้านๆ เข้ากัน มีวิวรอบด้านที่เขียวขจียังแอบคิดว่าถ้าเวลานี้ฝนตกลงมาก็น่าจะดีไม่น้อย อากาศคงเย็นและดูชุ่มชื่นขึ้น

 

 

มุมพักผ่อน นั่งเล่นรอบบ้าน มีทั้งแปลชิงช้าและเก้าอี้นั่ง แทบทุกตารางนิ้วของบ้านถูกห้อมล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวของต้นไม้ นั่งเล่นตรงนี้จึงรู้สึกเย็นมาก

 

 

17.30 น. ได้เวลาที่เราจะมาปั่นจักรยานชมสวนและท้องไร่ท้องนา ชมพระอาทิตย์กันแล้ว  ที่นี่มีจักรยานให้เช่าคันละ 30 บาท ซึ่งจักรยานตั้งอยู่ด้านหลังร้านกาแฟนั่นเอง มีให้เลือกหลายคันเลยทีเดียวค่ะ หลังจากได้จักรยานคันที่ถูกใจแล้ว  พี่แหม่มก็เป็นไกด์นำทางเราไป เส้นทางปั่นจักรยานที่บ้านนาต้นจั่นระยะทางประมาณเกือบ 2 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านและสวนไร่นาของชาวบ้าน แต่น่าเสียดายว่าปีนี้แล้งข้าวเลยยังไม่ค่อยได้ลงนาเท่าไหร่  จะมีแค่บางแปลงที่ปลูกไว้ก่อนหน้านั้นเพื่อรอวันเก็บเกี่ยวเท่านั้น หากอยากได้เต็มควรมาช่วงเดือน ก.ย.

 

 

จอดพักเหนื่อยชมธรรมชาติข้างทาง น่าเสียดายที่วันนี้พระอาทิตย์โดนเมฆบังไปเสียแล้ว ไม่อย่างนั้นเราอาจได้เห็นไข่แดงดวงโต  พื้นที่นาตรงนี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จะเต็มไปด้วยต้นปอเทืองบานสะพรั่งเต็มท้องทุ่ง  พี่แหม่มโชว์ภาพจากมือถือให้เราเราดู  เดือน ก.พ. ถือว่าเป็นช่วงที่น่ามาปั่นจักรยานผ่านทุ่งปอเทืองสีเหลืองซึ่งชาวบ้านจะปลูกทุกปีเพื่อรักษาหน้าดิน หลังจากเห็นภาพแล้วบอกเลยว่ามาอีกแน่ในช่วง ก.พ.

 

 

อาหารมื้อค่ำแบบง่ายๆที่เราได้ยินเสียงพี่แหม่มและผู้ช่วยนั่งตำ ๆ  ผัดๆ กันอยู่หลังบ้าน ถูกนำมาวางอยู่ตรงหน้าพวกเรา ทั้ง ไข่พะโล้ น้ำพริกไข่ต้มพร้อมผักเครื่องเคียง ผัดหัวปลี  แกงหน่อไม้ใบย่านาง วัตถุดิบก็เก็บเอาตามแปลงผักรอบบ้าน  อาหารเมนูพื้นบ้านใส่ลงในชามกระเบื้องดูหน้าตาธรรมดามาก  แต่ทุกจานที่วางอยู่ตรงหน้าอร่อยมาก ทานกันเกลี้ยง มีขอเบิ้ลด้วย

 

 

ตี่สี่ของเช้าวันใหม่ พวกเรามีนัดไปชมวิวที่จุดชมวิวห้วยต้นไฮ  ซึ่งเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่งดงามของบ้านนาต้นจั่น การเดินทางต้องเช่ารถของชาวบ้านขึ้นไปเพราะเส้นทางบางช่วงออฟโรด ราคาเที่ยวละ 200 บาท(นั่งได้ 10 คน)  และค่าไกด์นำทางอีก 200 บาท พร้อมกาแฟและโอวัลตินใส่ไม้ไผ้ให้ทานคนละ 1 กระบอก  รถจะมาถึงแค่จุดเดินเท้าจากนั้นเราต้องเดินขึ้นไปอีกประมาณ 3.6 กิโล ทางขึ้นเป็นทางราบน้อยนิดในช่วงแรก จากนั้นก็ไต่ระดับเป็นทางชันขึ้นเรื่อยๆ  ใช้เวลาเดินขึ้นไปประมาณเกือบชั่วโมง ด้วยสภาพอากาศที่ค่อนข้างอบอ้าวก็ทำเอาเกือบถอดใจ  ภาพเส้นทางถ่ายมาให้ชมตอนขากลับเพราตอนขึ้นจะมืดมองไม่เห็น ควรพกไฟฉายส่วนตัวและน้ำดื่มมาด้วย

 

 

กว่าจะขึ้นมาถึงก็ทำเอาหมดสภาพไปได้เหมือนกันค่ะ และก็โชคไม่เข้าข้างเพราะฝนไม่ตก อากาศแห้งแล้ง เราเลยไม่ได้เห็นทะเลหมอกในช่วงเช้ารวมถึงพระอาทิตย์ด้วย

Lif

 

 

ก็ถือว่าขึ้นมาให้เห็น ให้รู้ และมานั่งจิบโอวัลตินกาแฟจากไม้ไผ่เก๋ๆ ไม้ไผ่ที่พี่คนนำทางตัดมาจากต้นไผ่ตรงจุดชมวิวนี่แหละค่ะ ชาวบ้านมากๆ ข้างบนจุดชมวิวมีห้องน้ำให้บริการ และหากใครต้องการมาพักข้างบนไม่พักแบบโฮมสเตย์ ทางบ้านนาต้นจั่นก็มีบริการเต้นท์ ถุงนอน และอาหาร 2 มื้อ  ราคาเท่ากับพักโฮมสเตย์

 

 

ลงมาจากจุดวิวมาถึงบ้านพักประมาณ 9 โมงกว่า อาหารเช้าก็มาเสริฟ์ตรงหน้า คือ หน้าตาอาหารดีงามอีกแล้ว มี หมูสามชั้นทอด แกงจืดเต้าหู้  ต้มยำไก่  ไข่หมกใบตอง น้ำพริกหนุ่มอันนี้พี่แหม่มบอกเห็นบ่นว่าอยากกินเลยทำให้  น่ารักมาก  และนอกจากข้าวสวยก็มีข้าวเหนียวห่อใบตองมาให้ด้วย พูดเลยว่ามีความสุขทุกมื้อกับอาหารที่บ้านนาต้นจั่นเพราะรสชาติอร่อยทุกจาน ทุกมื้อ

 

 

10 โมงกว่าก็เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ไปเที่ยวในหมู่บ้านและชมผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะเลือกปั่นจักรยานไปชมหรือว่านั่งรถส่วนตัวไปเองก็ได้ พวกเราเลือกนั่งรถส่วนตัวไปเพราะในเวลาเกือบเที่ยงในสภาพอากาศที่ร้อนถ้าปั่นไปเองอาจมีเป็นลมได้  และเราก็ยังมีแหม่เป็นไกด์นำทางพากเราเที่ยวเหมือนเดิม อันดับแรกแวะไปไหว้พระทำบุญกันที่วัดเพียงแห่งเดียวในหมู่บ้าน วัดนาต้นจั่น

 

 

จากนั่นก็ไปชมสาธิตการทอผ้าเพื่อนำไปใช้ทำเป็นผ้าหมักโคลน ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของบ้านนาต้นจั่นนั่นเอง ถามคุณป้าว่า 1 ผืนใช้เวลาทอนานมั้ยค่ะ  คุณป้าตอบว่า 3 วัน ดูแล้วก็น่าจะนานอยู่ค่ะเพราะเป็นการทอด้วยฝีมือและแรงงานคนล้วนๆ  ซึ่งมีชาวบ้านอยู่หลายครัวเรือนที่ทอผ้าส่งไปยังศูนย์เพื่อส่งขายยังสถานที่ต่างๆ

 

 

จากนั้นก็ไปชมชมการสาธิตทำตุ๊กตาบาโหน  โดยมีคุณตาวงค์เป็นผู้ค้นคิดริเริ่มจนมีชื่อเสียง ตุ๊กตาบาร์โหนเครื่องบริหารมือซึ่งประดิษฐ์คิดทำมาหลายปีเป็นงานแฮนด์เมด ทุกวันนี้คุณตาสุขภาพถดถอย ไปตามกาลเวลาเพราะวัยล่วงมาแปดสิบปลาย ๆ แต่ยังได้ลูกชายกลับมาสืบทอดสานต่อรูปลักษณ์ความน่ารักและมีคุณประโยชน์ด้วย

 

 

ตุ๊กตาสองตัวทำให้พวกเราหัวเราะออกมา ด้วยดีไซน์ออกแนวทะลึ่งซักหน่อย

 

 

ราคาตุ๊กตาบาร์โหน ตัวละ 150 บาทเท่านั้นค่ะ ไม่แพงเลยสำหรับงานที่ต้องใช้ทักษะและฝีมือในการทำ ช่วยกันอุดหนุนคุณตาซักหน่อย ซื้อมาเล่น ไว้บริหารข้อมือ

 

 

ไปต่อกันที่กลุ่มตอไม้บ้านนาต้นจั่นตอไม้ คือ ตอไม้ที่ตายแล้วขุดมาจากใต้ดิน ไม่ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของป่าไม้  ตอไม้ทำได้หลายอย่างทั้ง โต๊ะ เก้าอี้หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ  ซึ่งเป็นตอไม้ที่อยู่ในหมู่บ้าน ทราบมาว่าออเดอร์เยอะเพราะไม้จากตอไม้ก็เป็นไม้ที่แข็งและทนทานมาก ราคาก็ไม่แพงด้วย ในระดับหลักพักต้นๆ ถึงพันกลางเท่านั้นค่ะ

 

 

มาถึงจุดสุดท้าย ก็คือ กรรมวิธีการทำผ้าหมักโคลน ซึ่งได้มาจากการทอผ้าในขั้นตอนแรก  ผ้าหมักโคลนเกิดจากในสมัยก่อนเมื่อชาวบ้านไปทำไร่ไถนาก็นุ่งผ้าถุงเวลาเดินชายผ้าก็ติด โคลนตม เมื่อกลับถึงบ้านและซักผ้าตากไว้ ก็สังเกตได้ว่าชายผ้านั้นนุ่มเป็นพิเศษและมีสีทึบทึมลง ดูสวยแปลกตาไปอีกแบบจึงได้ ทดลองเอาผ้าทั้งผืนมาหมักโคลนทิ้งไว้ ก็พบว่าโคลนนี่เองที่ทำให้ผ้านิ่ม นี่จึงเป็นที่มาของผ้าหมักโคลน สาเหตุที่ผ้านิ่มนั้น เพราะธาตุเหล็กในโคลนเมื่อแทรกซึมจะทำให้เส้นใยผ้าขยายตัวเนื้อผ้าจึงนุ่ม และมีสีสันติดทนภูมิปัญญาจึงเกิดจากการสังเกตนี้เอง ดินโคลนที่นำมาใช้หมักก็นำมาจากในหมู่บ้าน บึง หลังหมักโคลนไว้คืนหนึ่งจนผ้านุ่ม ก็จะนำไปซักน้ำจนกว่าจนน้ำจะใสแล้วค่อย ย้อมทับด้วยสีตามที่ต้องการ

 

 

สีที่ใช้เป็นสีจากธรรมชาติ ใบหูกวาง สีเขียวครีม เปลือกมังคุดสีม่วง  ใบสะเดาสีโอลด์โรส  เปลือกใบมะม่วงสีเขียวแก่ ใบจั่นสีเขียวอ่อน  แก่นขนุนสีเหลือง สะเดาสีกะปิ ลูกมะเกลือสีดำ ไม้เพกาสีเหลืองใบไผ่  ไม้ฝางสีแดงอมฝาด

 

 

ร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งอยู่ด้านข้างศูนย์ข้าวเปิ๊บ โดยนำผ้าหมักโคลนที่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

 

 

มื้อเที่ยงก่อนกลับ เราก็แวะมาทานข้าวเปิ๊บ หรือ ก๋วยเตี๋ยวพระร่วง อันเลืองชื่อ  หากไม่ได้ชิมข้าวเปิ๊บ ถือว่ายังมาไม่ถึงบ้านนาต้นจั่น สมัยก่อน ชาวบ้านอยากกินก๋วยเตี๋ยวแบบคนในเมืองแต่แถวนี้ไม่มีขาย เมนูนี้จึงเกิดขึ้นมา

 

 

“เปิ๊บ” หมายถึง ลักษณะของการพับไปพับมา โดยนำข้าวเจ้าข้าวสารมาโม่ด้วยโม่หินและกรองด้วยผ้าขาวคล้ายกับเป็นแป้งเปียกข้น ๆแล้วหยอดแป้งลงที่นึ่งบนผ้าขาวบางเป็นแผ่นบาง ลักษณะการทำคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ พอแป้งสุกเค้าจะวางวุ้นเส้น ผักบุ้ง กะหล่ำปลี ถั่วงอก ปิดฝานึ่งอีกรอบ พอผักเริ่มสุกก็พับแป้ง ไปมาตักใส่ถ้วยแล้วใส่ไข่หรือไม่ใส่ก็ได้ จากนั้นเติมด้วยน้ำซุป โรยหน้าด้วยผักชี ก็จะได้ข้าวเปิ๊บชามอร่อย มีให้ชิมทั้งแบบธรรมดา และใส่ไข่ ปรุงตามใจชอบ

 

 

นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่น ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวแบที่นำเส้นเล็กไปนึ่งพร้อมผักหลายอย่าง พอสุกก็ยกเติมเครื่องปรุง หมูแดง กากหมู เคียงข้างด้วยมะนาวสด หน้าตารสชาติเหมือนก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กแห้ง  ข้าวพันไข่ ข้าวพันพริก ที่ใช้แป้งเดียวกับข้าวเปิ๊บ ในการทำเพียงแต่นำมาคลุกกับเครื่องปรุงแล้วห่อหน้าตาคล้ายกับขนมเบื้องยกเสิร์ฟมาบนใบตองพร้อมน้ำจิ้ม รสชาติทุกเมนูอร่อย แบบอาหารพื้นบ้าน

 

 

หลังจากชมสาธิตการทำข้าวเปิ๊บแล้ว จากนั้นเราก็มาหัดทำข้าวเปิ๊บด้วยตัวเอง  รวมถึงเมนูอื่นๆ ด้วยซึ่งทำง่ายมาก

 

 

ช่วงเวลาแห่งความสุขในบรรยากาศแบบบ้านทุ่ง ไม่ว่าจะเป็นการพัก การกิน  หรือกิจกรรมต่างๆ ในแบบที่คนเมืองที่เห็นแต่ตึกรามบ้านช่องใหญ่โต นอนห้องแอร์ เข้าฟิตเนส กินอาหารแสนจะแพง  อาจไม่มีโอกาสได้เจอ ช่วงระยะเวลาสั้นที่ได้มาพัก บ้านนาต้นจั่น คุณค่าที่ได้รับมันเกินราคาไปแล้วจริงๆ

 


ขอบคุณข้อมูลจาก

paiduaykan.com

โพสต์โดย : ต้นน้ำ