Social :



@วัดโปรดเกศเชษฐาราม สมุทรปราการ

28 ต.ค. 60 23:10
@วัดโปรดเกศเชษฐาราม สมุทรปราการ

@วัดโปรดเกศเชษฐาราม สมุทรปราการ

วัดโปรดเกศเชษฐาราม

  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี อยู่ตรงข้ามกับวัดไพชยนต์พลเสพ ผู้สร้างวัดนี้คือพระยาเพ็ชรพิไชย (เกตุ) ผู้เป็นต้นสกุล "เกตุทัต" ซึ่งเป็นบุตรของพระยาเพชรพิไชย (หง) ผู้เป็นต้นสกุล "หงสกุล" สร้างเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2365 ชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดปากคลอง" เพราะอยู่ใกล้กับปากคลองลัดหลวง
 วัดนี้จะได้รับพระราชทานชื่อว่าอะไร เมื่อไร ไม่มีหลักฐานยืนยัน นอกจากจะสันนิษฐานว่าคงจะเป็นสมัยรัชกาลที่ ๓ เพราะสร้างวัดในสมัยนั้นเป็นพระราชนิยมอย่างยิ่ง จนมีคำกล่าวว่า "พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดคนเป็นนักรบ รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดคนเป็นกวี รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดคนสร้างวัด" สมัยนั้นจึงมีคนนิยมสร้างวัดกันเป็นจำนวนมาก วัดใดที่สร้างอยู่ในเกณฑ์ก็ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง วัดโปรดเกศฯ ก็คงได้เป็นพระอารามหลวงในยุคนั้น ส่วนชื่อวัดคงยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าได้รับพระราชทานเมื่อไร ชื่อวัดจึงมีการเขียนขึ้นหลายแบบ เช่น
 วัดโปรดเกตุเชษฐาราม
 วัดโปรดเกษเชษฐาราม
 วัดโปรดเกศเชฏฐาราม
 วัดโปรดเกศเชษฐาราม
 เรื่องการเขียนขื่อวัดนี้ คงจะเขียนขึ้นตามความเข้าใจโดยยึดความหมายที่ว่า ผู้สร้างวัดนี้เป็นพระพี่เลี้ยง คำว่า "เชฏฐ" เป็นชื่อของเดือน ๗ ตามจันทรคติและยังแปลว่า "พี่" หรือ "ผู้เจริญที่สุด" ตามภาษาบาลี ภาษาไทยเขียนว่า "เชษฐ" หรือ "เชษฐา"
 ในการก่อสร้างวัดโปรดเกศฯ ครั้งแรกปรากฏว่ามีเพียงพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ พระเจดีย์ใหญ่ 2 องค์ และหอระฆัง และเสนาสนะ ที่อยู่ของสงฆ์อีก 2 คณะ ภายในบริเวณพระอุโบสถและพระวิหารปูด้วยกระเบื้องหน้าวัว ในบริเวณระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหารก็ปูด้วยกระเบื้องหน้าวัวทั้งสิ้น มีแท่นสำหรับนั่งเล่นสองแท่น ก่ออิฐถือปูน พื้นปูด้วยหินอ่อน ส่วนมณฑปนั้นทราบว่ายังสร้างไม่เสร็จ และคงจะสำเร็จในยุคต่อมา
 ในสมัยนี้วัดเป็นที่นิยมในการศึกษาหาความรู้ของชาวบ้านและเป็นหลายๆ อย่างที่ชาวบ้านต้องการ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ศาลสถิตยุติธรรม วัดโปรดเกศฯ ก็มีพร้อมทุกประการ พระสงฆ์มีหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องต่างๆ กัน เช่น พระต้องเป็นหมดรักษาทางใจ คือสอนธรรมะ รักษาโรคทางกาย คือหมอยาแผนโบราณ นอกจากนี้ยังเป็นหมอดูรักษาศรัทธาและความสบายใจแก่ชาวบ้านเช่น เป็นผู้ให้ฤกษ์ยาม เป็นผู้พิพากษาคดีเล็กๆ น้อยๆ เป็นต้น
 ในสมัยพระปัญญาพิศาลเถร (สุก) เป็นเจ้าอาวาส พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้พระยาเพชรพิไชย (เกตุ) มาสร้างกุฏิอีกคณะหนึ่งแถบริมคลองลัดหลวง และได้สร้างหอสวดมนต์ 1 หลัง หอฉัน 1 หลัง กับกุฏิอีก 7 หลัง สร้างแบบฝากระดานไม้สัก มุงด้วยกระเบื้องไทยทั้งสิ้น
 ในสมัยพระครูวินยาบูรณาจารย์ (คำ) เป็นเจ้าอาวาส พระยาเพชรพิไชย (หนู) บุตรพระยาเพชรพิไชย (เกตุ) ได้สร้างและปฏิสังขรณ์ผนังพระอุโบสถหลังใหม่และเขียนลายเพดาน เพราะเดิมไม่ได้เขียนไว้ กับได้ปฏิสังขรณ์พระพุทธไสยาสน์ในพระวิหาร สร้างเขื่อนรอบสระพระมณฑป เพราะของเดิมสร้างไว้เป็นเขื่อนไม้ และยังได้ปฏิสังขรณ์อย่างอื่นอีกมากมายทั่วทั้งพระอาราม
 มรดกทางวัฒนธรรมที่ปรากฏคือ
 1. พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี 2 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง
 2. พระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร ยาวตลอดจากพระรัศมีถึงพระบาท 6 วา 2 ศอก
 3. พระประธานในมณฑป เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร เข้าใจว่าทำด้วยศิลาแลง
 4. พระพุทธรูปปางนาคปรก ปางป่าเลไลก์ ในเก๋งจีนรอบๆ มณฑป เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยศิลาแลง
 5. พระพุทธบาทจำลอง สร้างด้วยศิลาแลง ฐานรอบนอกประดับด้วยหินอ่อน กลีบบัวสลักด้วยศิลาแลงลงรักปิดทองลวดลายภายใน พระพุทธบาทประดับด้วยมุก เป็นรูปพรหมและรูปต่างๆ ประดิษฐานอยู่ในมณฑป
 6. พระศรีอาริย์โพธิสัตว์ หน้าตักกว้าง 1 ศอก 9 นิ้ว สูง 1 ศอกคืบ 1 นิ้ว หล่อด้วยโลหะ
 7. พระฤๅษีสลักด้วยศิลาเขียว
 8. ภาพเขียนสีน้ำมันเป็นภาพวิวต่างๆ ประดับอยู่ในภายในอุโบสถและวิหาร
 9. หน้าบันพระอุโบสถและพระวิหารประดับด้วยเครื่องลายเบญจรงค์
 10. มณฑปกลางน้ำ

 มีลักษณะสถาปัตยกรรมดีเด่น คือ พระอุโบสถไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันมีศิลปะปูนปั้นลายเครือเถาประดับเครื่องลายคราม ภายในมีพระประธานหล่อด้วยโลหะ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระวิหารมีลักษณะสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับพระอุโบสถ ภายในมีพระพุทธไสยาสน์พระพักตร์งามมาก นอกจากนี้ยังมีพระมณฑปหลังคามุงด้วยกระเบื้องรายรอบด้วยเก๋งจีน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ มีพระปรางค์ที่มุมทั้ง 4 ด้าน ภายในพระมณฑปมีพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาทจำลองประดับมุข

 ติดต่อสอบถามรายละเอียดที่ โทร 0 2462 5484, 0 2463 2549

การเดินทาง จากวัดไพชยนต์ฯ เลี้ยวขวาไปตามถนนทรงธรรมประมาณ 200 เมตร ข้ามสะพานคลองลัดหลวงประมาณ 50 เมตร จะพบวัดโปรดเกศเชษฐารามอยู่ริมถนนบริเวณทางโค้งด้านซ้ายมือ
 ถ้ามาทางถนนสุขสวัสดิ์เลี้ยวเข้าพระประแดงด้วยถนนนครเขื่อนขันธ์ ข้ามสะพานข้ามคลองแล้วกลับรถจะมีทางลอดใต้สะพานตรงไปยังวัดโปรดเกศฯ หรือทางที่สะดวกกว่าคือไปเลี้ยวซ้ายเข้าซอยลัดตะนง เลี้ยวซ้ายถนนทรงธรรมแล้วขับไปตามทางเรื่อยๆ จะไปบรรจบกับทางแรกได้

ติดต่อสอบถาม: ททท.สำนักงานฉะเชิงเทรา โทร.038 514 009
https://www.facebook.com/TAT-Chachoengsao-175554016247495/


พระมณฑปวัดโปรดเกศเชษฐาราม

พระมณฑปวัดโปรดเกศเชษฐาราม ภาพแรกของวัดหลังจากที่เลี้ยวรถเข้ามาในลานจอดรถวัดโปรดเกศเชษฐาราม แล้วเราเดินตรงเข้ามาในส่วนกลางวัดสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาที่สุดที่เราเห็นและดึงดูดให้เราเดินมาที่นี่ก็คือพระมณฑปแห่งนี้ เมื่อครั้งแรกสร้างใหม่ๆ พระมณฑปกลางน้ำไม่มีคันเขื่อนกันดินทลายลงอย่างที่เห็นหลังจากนั้นจึงได้มีการสร้างเขื่อนคอนกรีตรอบๆ พระมณฑป เป็นภาพที่สวยงามมาก ทัศนียภาพที่สวยงามนี้ทำให้วัดโปรดเกศเชษฐาราม ได้เป็นสถานที่ในการจัดประเพณีทำบุญปล่อยนกปล่อยปลาในงานสงกรานต์พระประแดง (ในแต่ละปีอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ แต่บ่อยครั้งที่จะจัดที่วัดโปรดเกศเชษฐาราม)


พระอุโบสถวัดโปรดเกศเชษฐาราม

MulticollaC
พระอุโบสถวัดโปรดเกศเชษฐาราม ด้านตรงข้ามกับพระมณฑปมีอาคารขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายกันมากอยู่ 2 หลัง เรียงกัน หลังหนึ่งคือพระอุโบสถ ส่วนอีกหลังหนึ่งเป็นพระวิหาร จุดเด่นของพระอุโบสถวัดโปรดเกศเชษฐารามคือไม่มีช่อฟ้าใบระกา ส่วนหน้าบันตกแต่งด้วยเครื่องลายครามจำนวนมากเรียงเป็นแนวเส้นตรงทั้งพระอุโบสถและพระวิหารรอบนอกก็จะมีเก๋งจีนอยู่หลายจุด

พระประธานวัดโปรดเกศเชษฐาราม

พระประธานวัดโปรดเกศเชษฐาราม เมื่อเข้ามาภายในพระอุโบสถจะเห็นองค์พระประธาน และพระพุทธรูปหลายองค์ประดิษฐานอยู่ภายใน ด้านหน้ามีพระพุทธรูปองค์จำลองประชาชนที่มาสักการะพระในอุโบสถจะต้องจุดธูปเทียนด้านนอกเท่านั้น

พระประธานวัดโปรดเกศเชษฐาราม

พระประธานวัดโปรดเกศเชษฐาราม ประดิษฐานบนฐานชุกชีและบุษบกลวดลายงดงาม ด้านขวาองค์พระประธานมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทรงเครื่องงดงามมาก ด้านหลังขององค์พระประธานจะมีการเจาะช่องลึกเข้าไปในผนังแล้วสร้างรูปพระอัครสาวกยืนพนมมือ ลักษณะเป็นครึ่งซีกนูนออกมาจากช่องที่เจาะเข้าไป ลักษณะการสร้างผนังอุโบสถแบบนี้ค่อนข้างที่จะหาชมได้ยาก

จิตรกรรมวัดโปรดเกศเชษฐาราม

จิตรกรรมวัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นลักษณะภาพจิตรกรรมที่ค่อนข้างแปลก วาดโดยการเจาะช่องลึกเข้าไปในผนังแล้วจึงเขียนภาพในช่อง ผนังด้านหน้าตรงกลางเป็นรูปพระพุทธเจ้า ส่วนด้านซ้ายและขวาเป็นพระอัครสาวกผนังด้านข้าง 2 ด้านเขียนภาพพระภิกษุณีนั่งพนมมือหันหน้าไปทางองค์พระประธาน

จิตรกรรมวัดโปรดเกศเชษฐาราม

จิตรกรรมวัดโปรดเกศเชษฐาราม

จิตรกรรมภาพพระภิกษุณี

จิตรกรรมภาพพระภิกษุณี ลักษณะของภาพจิตรกรรมที่เขียนในช่องที่เจาะลึกเข้าไปในผนัง ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาพจิตรกรรมเหล่านี้ยังคงความสมบูรณ์ผ่านกาลเวลาอันยาวนานมาได้


ภาพเขียนสีน้ำมันวัดโปรดเกศเชษฐาราม

ภาพเขียนสีน้ำมันวัดโปรดเกศเชษฐาราม นอกเหนือจากภาพจิตรกรรมบนฝาผนังแล้ว ในพระอุโบสถวัดโปรดเกศเชษฐาราม ยังตกแต่งด้วยภาพเขียนสีน้ำมันในกรอบขนาดเท่าๆ กัน จำนวนหลายภาพ ภาพเขียนเหล่านี้ก็เขียนขึ้นในยุคที่มีการก่อสร้างวัดนับเป็นงานศิลปะที่มีอายุเก่าแก่พอสมควร

ลวดลายเพดาน

ลวดลายเพดาน ในระหว่างที่ศึกษาหาความรู้และชมพระอุโบสถไปรอบๆ บังเอิญมองขึ้นไปบนเพดาน ได้เห็นลวดลายเหล่านี้ดูแปลกตามาก ลวดลายที่สวยงามเขียนด้วยสีดำเพียงสีเดียว เป็นลวดลายที่เขียนขึ้นสมัยพระครูวินยาบูรณาจารย์ (คำ) เป็นเจ้าอาวาส ในระหว่างการสร้างเสนาสนะในวัดเพิ่มเติม และการบูรณะ

ประตูและหน้าต่างพระอุโบสถ

ประตูและหน้าต่างพระอุโบสถ สิ่งหนึ่งที่สวยงามและแปลกตากว่าวัดอื่นๆ คืองานปูนปั้นลวดลายสวยงามรอบช่องประตูและหน้าต่างแทนการสร้างเป็นซุ้มขนาดใหญ่ ใช้สีทองบนผนังสีขาวทั้งหลังจึงทำให้ลวดลายเหล่านี้ดูสวยขึ้น

ตุ๊กตาจีน

ตุ๊กตาจีน พื้นที่ระหว่างพระวิหารและพระอุโบสถ มีตุ๊กตาจีน 2 ตัว เดิมทีคงเป็นตุ๊กตาถือทวนนั่งบนหลังม้า ปัจจุบันส่วนทวนได้ชำรุดหักไปแล้ว

พระพุทธไสยาสน์วัดโปรดเกศฯ

พระพุทธไสยาสน์วัดโปรดเกศฯ หลังจากไหว้พระในพระอุโบสถ คราวนี้เราเข้ามาในพระวิหารที่อยู่ข้างกัน ภายในพระวิหารขนาดไม่แตกต่างจากพระอุโบสถมากนัก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอน ขนาดพระนอนองค์นี้ใหญ่มากมีความยาวเกือบสุดผนังด้านในของพระวิหาร คงเหลือช่องว่างระหว่างองค์พระกับผนังไม่มากนัก


พระพุทธไสยาสน์วัดโปรดเกศฯ

พระพุทธไสยาสน์วัดโปรดเกศฯ

พระพุทธไสยาสน์วัดโปรดเกศฯ

พระพุทธไสยาสน์วัดโปรดเกศฯ ส่วนพระบาทขององค์พระพุทธไสยาสน์มีภาพประดับมุกจำนวนหลายภาพ เฉพาะส่วนพระบาทเป็นส่วนที่ห้ามปิดทอง เพื่อรักษาภาพประดับมุกเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นชัดๆ เมื่อเห็นภาพประดับมุกบนพระบาทขององค์พระนอน ทำให้นึกถึงพระพุทธไสยาสน์ที่วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพราะมีความคล้ายกันมาก

ภาพในอดีต

ภาพในอดีต เป็นพระบรมฉายาลักษณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้งทรงพระยศเป็นพระอนุชา เสด็จฯ มายังวัดโปรดเกศเชษฐาราม และทรงปล่อยนก

ด้านหลังพระวิหารวัดโปรดเกศเชษฐาราม

ด้านหลังพระวิหารวัดโปรดเกศเชษฐาราม ลักษณะการสร้างพระวิหารด้านหลังมีช่องประตูและหน้าต่าง แต่ปัจจุบันเปิดให้ประชาชนเข้าทางด้านข้างเพื่อความเหมาะสม ตรงส่วนหน้าบันเราจะเห็นเครื่องลายครามจำนวนมากซึ่งมีลักษณะเดียวกันทั้ง 2 ด้าน และมีทั้งพระวิหารและพระอุโบสถ

หน้าบันเครื่องลายคราม

หน้าบันเครื่องลายคราม

พระมณฑปวัดโปรดเกศเชษฐาราม

พระมณฑปวัดโปรดเกศเชษฐาราม ไหว้พระทั้งในพระอุโบสถและพระวิหารแล้วก็เดินย้อนกลับมาที่พระมณฑปกลางน้ำ เก็บภาพสวยๆ รอเวลาประเพณีปล่อยนกปล่อยปลาซึ่งจะจัดขึ้นในวันสงกรานต์พระประแดงวันสุดท้าย

ประเพณีทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา

ประเพณีทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันสุดท้ายของงานสงกรานต์พระประแดง ในแต่ละปีจะมีวัดที่ขอเป็นเจ้าภาพในการจัดพิธีหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป แต่ว่ากันกว่าหากปีใดได้จัดในวัดโปรดเกศเชษฐารามจะเป็นภาพที่สวยงามที่สุด เพราะจัดขึ้นที่พระมณฑปกลางน้ำของวัด ประเพณีนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากวันสงกรานต์ใหญ่ มักจะเลือกจัดในวัดศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ เพื่อให้ประชาชนนักท่องเที่ยวต่างพื้นที่ได้เดินทางมาชมความสวยงามของงานนี้ ส่วนในวันที่ 13-15 เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ใหญ่ของไทย ชาวบ้านในพื้นที่พระประแดงจะไม่เล่นสาดน้ำกันครับ จะมาเล่นกันในวันสงกรานต์พระประแดงเท่านั้น


ขอบคุณข้อมูลจาก

touronthai.com

โพสต์โดย : ต้นน้ำ