Social :



หนองชิ่มบ้านฉัน...ตามรอย “พ่อ” อย่างพอเพียง

02 พ.ค. 59 10:59
หนองชิ่มบ้านฉัน...ตามรอย “พ่อ” อย่างพอเพียง

หนองชิ่มบ้านฉัน...ตามรอย “พ่อ” อย่างพอเพียง


หนองชิ่มบ้านฉัน ...ตามรอย พ่อ อย่างพอเพียง

          ผืนนาสีเขียวขจีที่มองไกลสุดลูกตาแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี บนเนื้อที่กว่า 1,700 ไร่ ที่ได้รับความร่วมมือจาก อบต.หนองชิ่ม และชาวบ้าน ร่วมกันปลูกนาข้าวผืนใหญ่ ด้วยเกษตรอินทรีย์ ฟื้นฟูการปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ และวิถีชีวิตแบบพอเพียง ที่กำลังจะสูญหายไป ให้กลับมามั่งคั่งดังเดิม ภายใต้แนวคิดของ นายธนกรณ์ ชาวแกลง นายก อบต.หนองชิ่ม ที่นำชาวบ้านร่วมปลูกข้าววิถีพอเพียง ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา 


จนทำให้พื้นที่ อบต.หนองชิ่ม กลับมาเขียวขจีอีกครั้ง สร้างรายได้หมุนเวียนแก่ชุมชน ตามปณิธานของพ่อหลวง ซึ่งถือว่าการทำนาเกษตรอินทรีย์ ได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะยอดการผลิตไม่แตกต่างจากการทำเกษตรเคมี ที่สำคัญมีต้นทุนที่ต่ำกว่าเป็นอย่างมาก

 

นาข้าวอินทรีย์แท้...ความภูมิใจของชาวหนองชิ่ม

            นายกฯ ธนกรณ์ กล่าวว่า พื้นที่ดั้งเดิมของ ต.หนองชิ่ม เมื่อก่อนทำนาข้าว ต่อมามีการปรับเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น นาข้าวน้ำกร่อยได้ถูกเปลี่ยนเป็นนากุ้ง เนื่องจากในขณะนั้นอาชีพเลี้ยงกุ้งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูงและใช้ระยะเวลารวดเร็วกว่าอาชีพทำนาข้าว และหลังจากหันมาเลี้ยงกุ้งกันเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้สภาพพื้นที่เสื่อมโทรม ประกอบกับขาดระบบการจัดการที่ถูกต้อง ทำให้การประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทีนี้ในส่วนของ อบต.เอง เราก็เล็งเห็นว่า เราน่าจะรื้อฟื้นอาชีพดั้งเดิม ก็คืออาชีพทำนาข้าว โดยทำตามแนวทางพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี อบต.เป็นองค์กรนำ องค์กรนำนี่หมายถึงว่า เราทำ ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ตัวเรานะ แต่จะตกอยู่กับคนในชุมชน ตกอยู่กับชมรมผู้สูงอายุ ตกอยู่กับชมรมผู้ทำนาข้าว ตกอยู่กับกลุ่มสตรี เราทำนี่เพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่ที่ตัวเขา

 

 

                                ธนกรณ์ ชาวแกลง นายก อบต.หนองชิ่ม

 

                 ในส่วนของกลุ่มนาข้าวเนี่ยนะครับ เขายังทำนาเกษตรเคมีกันอยู่ เกษตรเคมีเมื่อเทียบกันแล้ว เขาทำนาได้ปีหนึ่ง 600 กิโลต่อไร่ แต่เราทำเกษตรอินทรีย์ (ข้าวกล้อง) ในส่วนของ อบต. ซึ่งผลที่ได้ไม่ได้แตกต่างกันเลย อบต.เรายังทำแพ็กเกจเอง เราสีได้ 600 กิโลต่อตันข้าวเปลือก ขายกิโลละ 50 บาท ฉะนั้นเราขายข้าวได้ตันละสามหมื่นบาท ทั้งๆ ที่ข้าวของกลุ่มนาข้าว กลุ่มเกษตรกร ขายได้ตันละเก้าพันเมื่อปีที่แล้ว นั่นทำให้เราเห็นความแตกต่าง เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถ้าเป็นเกษตรอินทรีย์

           ของเราเป็นนาปี ไม่ใช่นาปรัง นาปีเราก็ต้องรอฤดูฝนจริงๆ และพื้นที่ทำนาของบ้านเราไม่เยอะมาก แค่พันกว่าไร่ เราก็เริ่มจากประชุมกลุ่มชาวนาเพื่อเข้าร่วมการผลิตข้าวแบบอินทรีย์ จากนั้นเตรียมพื้นที่ทำแปลงนาข้าวอินทรีย์สาธิต ณ หมู่ 3 ต.หนองชิ่ม โดยมีพิธีก่อนหว่านข้าวเปลือก พิธีบายศรีข้าว โดยมีชาวบ้านต่างร่วมแรงร่วมใจกันมาช่วยหว่านข้าว ใส่ปุ๋ยบำรุง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และก็มาถึงวันที่รอคอย ข้าวออกรวงเหลืองทองอร่ามทุ่ง ชาวบ้านก็ต่างมาร่วมแรงกันอีกในการเกี่ยวข้าว จนถึงการนวดข้าว จากเริ่มหว่านจนถึงวันนี้ ได้ผลิตภัณฑ์ของเราคือ ข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษให้พวกเราได้กินกัน

           เราสนับสนุนการทำการเกษตรปลอดสารพิษ ลดการใช้สารเคมีในการผลิต และยังอนุรักษ์พันธุ์ข้าวล้นยุ้งที่เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของ ต.หนองชิ่ม ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่สำคัญทำให้เยาวชนรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตเดิมๆ ของบรรพบุรุษ ได้เข้ามาเรียนรู้การทำนาดำ และนาหว่านว่าแตกต่างกันอย่างไร การรวมกลุ่มกันลงแขกดำนาปลูกข้าวเขาทำกันอย่างไร ผลผลิตต่อไร่จะแตกต่างจากนาหว่านอย่างไรบ้าง

          แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่หลายคนนึกภาพตามแล้วมองว่าแนวคิดนี้ใช้เวลายาวนานกว่าจะได้เห็นเม็ดเงินจริง คงจะต่างจากการทำนากุ้งอย่างในอดีต แต่ถ้าจะให้กลับไปเสี่ยงเหมือนอย่างในอดีต เงินลงทุนคงยังเอื้อมไม่ถึง ความยั่งยืนของนาข้าวเกษตรอินทรีย์จะเป็นเครื่องพิสูจน์... เวลาอาจจะไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ถือเอาการทำงานจริงและเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่าที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนได้

 

 

ลองมาสัมผัสกับบรรยากาศแบบนี้ที่นี่ แล้วคุณจะอยากหยุดเวลาไว้ ณ ไอดิน กลิ่นทุ่ง

 

 

 

ร้านไอดิน กลิ่นทุ่ง ต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ร้านเปิด : ศุกร์ 13.00-18.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 10.00-18.30 น. ที่จอดรถ

Lif
: จอดข้างทาง เหมาะสำหรับมาเป็นกลุ่ม เป็นครอบครัว เมนูเด็ด : ไอติมกะทิ, ชาเย็น, ชาเขียวเย็น กิจกรรมหลักๆ คือ ถ่ายภาพบรรยากาศ วิวธรรมชาติ นั่งมองท้องฟ้า สูดอากาศอันแสนสดชื่น ส่วนสินค้าโอทอปก็น่าเลือกซื้อ และนำไปเป็นของฝาก

 

                ภายหลัง อบต.หนองชิ่ม นำชาวบ้านร่วมปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ ฟื้นฟูพื้นที่จนประสบความสำเร็จ และจัดทำศูนย์เรียนรู้ชุมชน ด้านการปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ มีผู้สนใจเข้าดูงานเป็นจำนวนมาก จนเกิดแนวคิดสร้างการท่องเที่ยววิถีชุมชน ด้วยการเปิดร้าน ไอดิน กลิ่นทุ่ง จำหน่ายไอศกรีมพื้นบ้าน และกาแฟโบราณแก่นักท่องเที่ยว ได้สูดอากาศอันบริสุทธิ์ของทุ่งนาและธรรมชาติของวิถีชีวิตอย่างแท้จริง รวมทั้งสร้างรายได้เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ชุมชน พร้อมนำสินค้าโอทอปในชุมชน ทั้งเหละ ปลากรอบ ข้าวตู ข้าวสารพันธุ์หอมมะลิ มาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว หลังจากเปิดให้บริการได้ไม่นาน (ร้านเปิดเมื่อ 30 ก.ค. 2558) ได้รับความสนใจจากคนใน จ.จันทบุรี และคนนอกพื้นที่ ได้มาแวะพัก แวะกิน แวะสูดกลิ่นอายของท้องทุ่งเขียวขจี กันอย่างไม่ขาดสาย ภายใต้กระท่อมไม้ไผ่ และฉากวิวให้เราได้แชะเก็บบรรยากาศเป็นที่ระลึก

          ช่วงที่เราดำนานะครับ ก็จะมีหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่จะไปพักโฮมสเตย์ด้านล่าง (พื้นที่หมู่ 8 9 10 จะมีโฮมสเตย์ด้วย) และถนนเส้นนี้เป็นเส้นท่องเที่ยว หรือถนนเลียบชายฝั่งเส้นถนนเฉลิมบูรพาชลทิต (ถนนเลียบชายหาดที่สวยที่สุด และได้ชื่อว่าเป็นถนนที่สวยงามที่สุดในภาคตะวันออก ถนนเส้นนี้เป็น 1 ใน 10 สถานที่ท่องเที่ยวของ Dream Destinations ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแนะนำให้มาเที่ยว) นักท่องเที่ยวที่ขับรถผ่านมาก็เกิดความสนใจ ก็แวะดูและยังมาช่วยกันทำนาบ้าง (ยิ้ม) เราก็เกิดแนวคิดว่าน่าจะสร้างตรงนี้ โดยวัตถุประสงค์แรกเลยนะครับ สร้างเพื่อเป็นสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยวมาพัก มาพักแล้วก็มาดูวิถีชุมชนเรา พอทำไปทำมา เราก็มีวัตถุประสงค์เพิ่ม ก็คือให้เป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ตอนนี้เรามีในเรื่องของข้าว (ข้าวกล้อง) ที่เราผลิตเอง มีผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผู้สูงอายุ มีผลิตภัณฑ์ของกลุ่มโอทอป เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน วัตถุประสงค์ที่สาม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพราะตอนนี้พื้นที่ที่จะทำนาข้าวมันน้อยลงทุกทีๆ แล้ว นายกฯ ธนกรณ์ กล่าว

          ร้านไอดิน กลิ่นทุ่ง (ไอติม-กาแฟ) ที่นี่นอกจากจะเป็นจุดพักผ่อน จุดนัดพบปะพูดคุยกันของคนในตำบล และเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ยังเป็นที่จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าวอินทรีย์ ผักปลอดสารพิษ และบริเวณพื้นที่ยังมีบ้านควายที่เกิดจากความร่วมมือของคนในตำบลนำควายที่ไถ่ชีวิตมาเลี้ยงไว้ ณ ที่แห่งนี้

         ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างก็ชื่นชอบกับบรรยากาศของทุ่งนาของร้านไอดิน กลิ่นทุ่ง เพราะถือเป็นการหลีกหนีจากความวุ่นวายในเมือง ออกมารับลมชมธรรมชาติ พร้อมนั่งชิมไอติม-กาแฟ แสนอร่อยในวันหยุดสุดสัปดาห์

 

 

ไอติมรสเลิศ ด้วยความเข้มข้นของรสกะทิ ผสมกับกลิ่นอายธรรมชาติที่ลงตัว ไอติมกะทิสามารถเพิ่ม topping ได้ ในราคา 20 บาท

 

 

                นี่ก็มาเป็นครั้งที่สองแล้วเหมือนกัน ชอบที่ทาง อบต.เขาทำ ชอบแนวคิด เพราะว่าอนุรักษ์ธรรมชาติ ให้เห็นธรรมชาติ ให้คนกรุงเทพฯ หรือคนต่างจังหวัดที่เขาไม่มีแบบนี้ได้เห็นบ้าง อยากให้อนุรักษ์อย่างนี้ไปเรื่อยๆ คนจะได้มาสูดบรรยากาศอย่างนี้

                บรรยากาศโอเคค่ะ ร่มรื่น เย็นสบาย แล้วไอติมก็อร่อยค่ะ (ยิ้ม)

                ชอบค่ะ (ยิ้ม) ไว้เดี๋ยวจะชวนเพื่อนๆ มาเยอะๆ เลยค่ะ เพราะบรรยากาศดีมาก แถวบ้านเราไม่ค่อยมีบรรยากาศแบบนี้ รู้สึกดีค่ะ มานั่งแล้วอบอุ่น

 

 

 

                ร้านไอดิน กลิ่นทุ่ง ของ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น เพราะทำให้นักท่องเที่ยวได้ย้อนวันวานสู่ท้องทุ่งในวันสุดสัปดาห์ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิถีชุมชนพอเพียง ซึ่งผู้ที่ชื่นชอบสามารถร่วมท่องเที่ยวและชิมกาแฟแสนอร่อยได้ในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ หรือติดตามได้ทางเฟซบุ๊ก แฟนเพจ หนองชิ่มบ้านฉัน ...ตามรอย พ่อ อย่างพอเพียง คณะผู้บริหารโดยท่านนายกฯ ธนกรณ์ ชาวแกลง และพนักงาน อบต.หนองชิ่ม มีเจตนาเดียวกัน คือไม่ได้หวังว่าจะมุ่งเน้นผลกำไรหรือชื่อเสียง เพียงแต่มุ่งเน้นการบริการและให้ทุกท่านได้รับความสุข ความผ่อนคลายกับบริการที่ดีที่สุดเหมือนครอบครัวเดียวกัน เพราะที่นี่คือ หนองชิ่มบ้านฉัน และจะเป็นหนองชิ่มของทุกคนตลอดไป...


 

 ที่มา: นิตยสารผู้นำท้องถิ่น ฉบับที่ 174 2558

โพสต์โดย : ครองแครง